มช.จัดยิ่งใหญ่งาน "วันทรงดนตรี"

2018-01-11 12:55:19

มช.จัดยิ่งใหญ่งาน "วันทรงดนตรี"

Advertisement

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดยิ่งใหญ่งาน "วันทรงดนตรี" เพื่อรำลึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9 ที่ทรงดนตรีร่วมกับนักศึกษา มช. เพียงมหาวิทยาลัยเดียว



เมื่อเวลา 18.30 น.วันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.อาวุธ ศรีศุกรี อุปนายกสภามหาวิทยาลัย รักษาการแทนอธิการบดี มช. เป็นประธานเปิดงาน วันที่ระลึก "วันทรงดนตรี" ที่ลานสังคีต มช. โดยมี นายสมชัย สมัยสุต ประธานคณะกรรมการอำนวยการการจัดงานฯ กล่าวรายงาน มีศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อดีตอธิการบดี มช. และเป็นประธานมูลนิธิพัฒนา มช. ดร.พิสิษฐ์ วรอุไร อดีตรองอธิการบดี มช. ร่วมขึ้นกล่าวถึงความภาคภูมิใจที่ได้ถวายงานเบื้องพระยุคลบาท จนนำมาสู่การจัดงานในครั้งนี้ นอกจากนี้ก็มีศิษย์เก่าของ มช. รวมถึงนักศึกษา มช. เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก


ก่อนการเริ่มงานได้มีวงดนตรีไทย ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทย สโมสรนักศึกษา มช. บรรเลงเพลงไทยเดิมต่างๆ และบทเพลง "แสนคำนึง" ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงซอด้วง เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2518 และในครั้งนี้ทางคณะผู้บริหาร มช. และผู้ร่วมงานได้ร่วมกันน้อมถวายความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และมีวงดนตรี O CMU Band ร่วมกับ CMU Choir บรรเลงและขับร้องเพลง "ในหลวงของแผ่นดิน" และบทเพลงในบริบท "พระบารมีคุ้มเกล้า" , "สืบสานพระปณิธาน" , "ตามรอยเพลงที่พ่อทรง" และ "สดุดีพระอัจฉริยภาพองค์คีตราชัน" จากนั้นได้ร่วมกันร้องเพลงบทเพลงเทิดพระเกียรติ และร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ก่อนที่จะปิดงาน




ด้าน นายสมชัย สมัยสุต ประธานคณะกรรมการอำนวยการการจัดงานฯ กล่าวว่า เมื่อ 43 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จฯ มาร่วมทรงดนตรีกับนักศึกษา มช. ในวันที่ 10 ม.ค. 2518 การเสด็จฯ ในครั้งนั้นมีลักษณะที่แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ อาทิ การเสด็จฯ มาร่วมทรงดนตรีโดยไม่ได้มีหมายกำหนดการล่วงหน้า เป็นการเสด็จฯ "ครั้งแรก" และเป็น "ครั้งสุดท้าย" โดยไม่ได้เสด็จฯ ไปทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยแห่งใดอีกเลย จึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อ มช.อย่างแท้จริง

ตลอดเวลาที่ผ่านมา มช.ยังไม่ได้มีการน้อมรำลึกถึง "วันทรงดนตรี" นี้ ดังเช่นที่ปฏิบัติกันในมหาวิทยาลัยอื่นๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2560 ที่ผ่านมา ประธานมูลนิธิพัฒนา มช. ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต ได้ร่วมกับอดีตผู้บริหาร มช. อดีตนักศึกษาส่วนหนึ่ง และชมรมดนตรีสากลนักศึกษาเก่า มช.ได้ร่วมกันจัดขึ้น และในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงได้จัดขึ้นอีกครั้ง เพื่อย้อนรำลึกกลับไปถึงเหตุการณ์ในวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของ มช.  

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.อาวุธ ศรีศุกรี อุปนายกสภามหาวิทยาลัย รักษาการแทนอธิการบดี มช. กล่าวว่า การจัดงานวันที่ระลึก "วันทรงดนตรี" ที่ทรงคุณค่า เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อ มช.อันเป็นที่ล้นพ้นหาที่สุดมิได้ และจะมีการจัดตลอดไป



ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อดีตอธิการบดี มช. และเป็นประธานมูลนิธิพัฒนา มช. กล่าวว่า มช.อยู่ใต้ร่มพระบารมีที่แผ่มาคุ้มครองและให้ความสุขแก่ชาว มช.ตลอดมา มิได้ต่างไปจากมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง ด้วยโชคดีที่ มช.และ จ.เชียงใหม่ มีพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์เป็นที่ทรงแปรพระราชฐานมาประทับเป็นประจำทุกปี ดังคำกล่าวถึงพระบารมีนี้ในเพลง "ร่มแดนช้าง" ซึ่งเป็นบทเพลงประจำ มช.ที่ทุกคนล้วนจำขึ้นใจ และนอกจากการการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตใหม่ทุกปีแล้ว เมื่อประทับ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ทรงเสด็จฯ ลงมาเยี่ยมเยือน มช. และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้นักศึกษาและคณาจารย์ขึ้นไปเฝ้ายังพระตำหนักฯ รับพระราชทานเลี้ยงอาหาร และทรงบรรเลงเปียโนหรือกีตาร์ให้นักศึกษาได้ชื่นชมในพระอัจฉริยะภาพอยู่เสมอๆ ทั้งยังโปรดเกล้าให้วงดนตรีของนักศึกษาทั้งวงดนตรีไทยและวงดนตรีสากลขึ้นไปบรรเลงเพลงถวายเป็นนิจ หากแต่พระมหากรุณาธิคุณสูงสุดเป็นล้นพ้น คือ การทรงดนตรีร่วมกับนักศึกษาเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2518 ในคราวเสด็จงานอุทยานสโมสรฉลองบัณฑิตใหม่ เนื่องจากเป็นการทรงดนตรีร่วมกับนักศึกษาเป็นครั้งแรกนับแต่ มช.ได้รับการสถาปนาขึ้น และเป็นการร่วมทรงดนตรีเพลงครั้งเดียว และเป็นครั้งสุดท้ายของการร่วมทรงดนตรีกับนักศึกษาของทุกมหาวิทยาลัย ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงได้จัดงาน "วันทรงดนตรี" เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ