“แอมเนสตี้”อธิบาย “Social Movement”คำถามที่ “มารีญา”เจอ

2017-11-27 18:35:25

“แอมเนสตี้”อธิบาย “Social Movement”คำถามที่ “มารีญา”เจอ

Advertisement

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในฐานะขบวนการเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก อธิบาย “Social Movement” คำถามที่ “มารีญา”เจอบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส



เวทีประกวด Miss Universe 2017 เพิ่งจะจบลงไปหมาดๆ ซึ่งตัวแทนจากประเทศไทย มารีญา พูลเลิศลาภ ก็ทำผลงานได้ดี โดยสามารถเข้าไปถึงรอบห้าคนสุดท้ายได้และเจอกับคำถามเกี่ยวกับ Social Movement

แม้ว่ามารีญาจะตอบได้น่าพอใจในเวลาที่จำกัด แต่ผู้ชมหลายคนอาจจะยังงงๆ อยู่ว่าเจ้า Social Movement มันคืออะไรกันแน่ วันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในฐานะขบวนการเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก จะลองพยายามอธิบายคร่าวๆ ให้ฟังกัน




ภาพ : Frazer Harrison / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / AFP

Social Movement หรือ "การเคลื่อนไหวทางสังคม" เป็นปฏิบัติการของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ในประเด็นต่างๆ เช่น การเมือง สิ่งแวดล้อม เชื้อชาติ สิทธิผู้หญิง LGBT โรคเอดส์ คนพิการ ฯลฯ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรระบุว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมเติบโตมาพร้อมกับอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยซึ่งให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมาก โดยเชื่อว่าเมื่อประชาชนถูกกดขี่ข่มเหงหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม พวกเขาย่อมมีสิทธิออกมาแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ประท้วง และเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเองได้




กลุ่มคนที่เข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวทางสังคมมีความหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละบริบท บางกลุ่มเป็นคนที่ออกมาต่อสู้เพื่อปลดแอกจากอำนาจผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรม บางกลุ่มเป็นคนยากจนที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และบางกลุ่มเป็นชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นสูงที่แย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างกัน

การเคลื่อนไหวทางสังคมในบางประเด็นขยายตัวจากในประเทศจนได้รับการยอมรับเกือบทั่วโลก โดยบางประเด็นมีต้นกำเนิดในโลกตะวันตก เช่น สิทธิและความเท่าเทียมของผู้หญิง การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน แต่บางเรื่องก็มาจากโลกตะวันออก เช่น หลักการไม่ใช้ความรุนแรง (อหิงสา) ของมหาตมา คานธี

การเคลื่อนไหวที่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่น การเรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนดำในสหรัฐฯ ซึ่งนำโดยมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ อาหรับสปริงส์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง การรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน การเปิดโปงข้อมูลการละเมดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทั่วโลกโดยวิกิลีกส์ การเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการของนักศึกษาไทยในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519 หรือแม้กระทั่งโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อระดมทุนเพื่อโรงพยาบาลโดย ตูน บอดี้สแลม ที่ตกเป็นที่สนใจของคนไทยจำนวนมากก็ถือเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน



อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางสังคมไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อการพัฒนาเชิงบวกหรือทำให้สังคมให้ดีขึ้นเสมอไป เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มนาซีใหม่ กลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อกดขี่ เลือกปฏิบัติ หรือปองร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ซึ่งเป็นสมาชิกร่วมสังคมเดียวกัน

การจะสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะในประเด็นใดมักมีความยากลำบาก เพราะมักถูกขัดขวางจากผู้เสียผลประโยชน์เสมอ และในหลายกรณีผู้เสียผลประโยชน์คือภาครัฐซึ่งมักใช้อำนาจปราบปรามหรือปิดกั้นความคิดเห็นของประชาชนโดยมิชอบ ซึ่งจากข้อมูลของเรา รัฐบาลไทยตลอดหลายรัฐบาลที่ผ่านมาต่างเข้าข่ายดังกล่าว เพราะมีการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและไม่ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของประชาชนในประเด็นต่างๆ เท่าที่ควรจะเป็น

แอมเนสตี้ เป็นขบวนการเพื่อสิทธิมนุษยชนของที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบัน มีผู้สนับสนุนทั่วโลกมากกว่า 7 ล้านคน เรารณรงค์ทั้งกับภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา และประชาชนทั่วไปทั้งในไทยและต่างประเทศ ความอิสระและเป็นกลางทางการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา และเพศคือหลักการสำคัญที่เรายึดถือ งบประมาณสำหรับการณรงค์สิทธิมนุษยชนของเราจึงมาจากเงินบริจาคจากคนธรรมดาๆ เช่นคุณ

ขอบคุณภาพ :  GETTY IMAGES NORTH AMERICA / AFP