รถบรรทุก “พลายชมพู”สู่ลำปางเจออุปสรรคตลอดทาง

2017-10-19 21:45:22

รถบรรทุก “พลายชมพู”สู่ลำปางเจออุปสรรคตลอดทาง

Advertisement

สัตวแพทย์สถาบันคชบาลแห่งชาติ นำรถ 10 ล้อพา “พลายชมพู”ออกเดินทางจาก อ.เนินมะปราง มุ่งสู่ จ.ลำปาง แต่ติดอุปสรรคสายไฟต่ำ ทำให้ต้องใช้ไม้ยกเป็นระยะ เผยทำความเร็วได้ประมาณ 20-40 กม.ต่อ ชม. คาดถึงลำปางเช้าวันที่ 20 ต.ค.

เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 19 ต.ค. น.สพ.ทวีโชค อังควานิช สัตวแพทย์สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จ.ลำปาง พร้อมคณะ ซึ่งนำรถบรรทุกจาก จ.ลำปางมารับช้างป่าจาก จ.พิษณุโลก ไปรักษา ให้สัมภาษณ์ “นิว18” ถึงการนำตัว “พลายชมพู” หรือ “เพชรชมพู” หรือ “พลายธารา” ช้างป่าเพศผู้อายุประมาณ 10 กว่าปี ซึ่งถูกน้ำป่าซัดตกลงไปในคลองชมพู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ไปยัง จ.ลำปาง ว่า ใช้รถบรรทุก 10 ล้อ บรรทุกช้าง ออกเดินทางจากจุดเกิดเหตุประมาณ 1 ทุ่มครึ่ง ณ ขณะนี้ยังอยู่ในเขต อ.เนินมะปราง เพราะทำความเร็วได้ประมาณ 20 กม.ต่อ ชม. เนื่องจากติดอุปสรรคสายไฟฟ้า ดังนั้นต้องระมัดระวังเวลาเคลื่อนผ่านจะต้องใช้ไม้ยกสายไฟให้สูงขึ้น และพยายามใช้ทางเรียบ คาดว่าช้างจะถึง จ.ลำปางในเช้าวันพรุ่งนี้

ส่วนที่หลายคนกังวลว่าพลายชมพูจะยืนบนรถอย่างไรเมื่อขาเจ็บ น.สพ.ทวีโชค กล่าวว่า ได้พยุงช้างโดยใช้ “เส้นปะอก” ซึ่งทำจากเชือกปอ โดยควาญข้างถักไว้ สำหรับยึดโยงอุปกรณ์บนหลังช้าง แต่เราจะนำมากระจายน้ำหนักช้าง วางในตำแหน่งโครงกระดูก ไม่ให้รัดหัวใจ จริง ๆ จะใช้สายดับเพลิงก็ได้แต่อาจจะมีข้อเสียคือ เรื่องความคมของสาย ดังนั้นในเมืองไทยจึงใช้ “เส้นปะอก” ในการประคองหรือพยุงช้าง




เมื่อถามถึงอาการบาดเจ็บของช้าง น.สพ.ทวีโชค กล่าวว่า เมื่อไปถึง จ.ลำปาง คงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถมาช่วยดู เพราะอาการบาดเจ็บที่ขาหลังทั้ง 2ข้าง ไม่รู้สาเหตุว่าเป็นอะไร รู้แต่ว่าช้างไม่ได้ใช้ขาหลัง ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ ถ้าสมมติว่ากระดูกแตกก็ต้องใส่เฝือกดาม อันตรายหรือไม่อยู่ตรงจุดที่เป็น หรือถ้าข้อสะโพกหลุดอาจดันขึ้นไม่ไหว ถ้าเป็นเกี่ยวกับระบบประสาทก็อาจจะหนักหน่อย ดังนั้นต้องขึ้นอยู่กับว่าบาดเจ็บตรงไหนอย่างไร

ต่อข้อถามว่า ช้างป่าจะคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมหรือไม่ น.สพ.ทวีโชค กล่าวว่า คงต้องค่อยๆปรับสภาพ ขึ้นอยู่กับช้างด้วย บางตัวใช้เวลาเป็นสัปดาห์ บางตัวเป็นเดือน หรือเป็นปีก็มี



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.สพ.ทวีโชค และทีมงานจะจอดดูช้างเป็นระยะ ๆ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นตลอดเส้นทาง ทั้งนี้รถ 10 ล้อทำความเร็วได้ประมาณ 20-40 กม.ต่อชั่วโมงเท่านั้นเพื่อความปลอดภัยของช้าง ขณะเดียวกันติดอุปสรรคสายไฟฟ้าทำให้ต้องจอดรถยกสายไฟเป็นระยะ