“คีเลชั่น”อันตรายถ้าใช้ไม่ถูกต้อง

2017-09-23 19:50:41

“คีเลชั่น”อันตรายถ้าใช้ไม่ถูกต้อง

Advertisement

หลายคนมีคำถามและสงสัยว่า “คีเลชั่น”คืออะไร ใครบ้างต้องทำคีเลชั่น แล้วจำเป็นต้องทำหรือไม่ อย่างไร?

อ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ


อ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ อาจารย์สาขาวิชาเวชเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์และศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า “คีเลชั่น” คือ การใช้ยาเพื่อขับโลหะหนักออกจากร่างกาย สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะโลหะหนักเป็นพิษต่อร่างกายเท่านั้นที่ต้องรักษาด้วยการคีเลชั่น




ผู้ที่มีความเสี่ยงมีโลหะหนักในร่างกาย เช่น ผู้ที่อาศัยหรือทำงานในแหล่งสัมผัสสาร เช่น สนามยิงปืน โรงงานแบตเตอรี่ ช่างทอง ช่างเชื่อมโลหะและบัดกรี หรือมีความผิดปกติในพฤติกรรมการกิน เช่น กินดิน หรือกินสีทาบ้าน มีประวัติถูกยิงซึ่งมีกระสุนฝังในร่างกาย คนเหล่านี้ควรมีการตรวจร่างกายและตรวจหาระดับสารโลหะหนักตามความเหมาะสม

“คีเลชั่น”ไม่ลดริ้วรอยหรือช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ไม่ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น ไม่รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ออทิสติก อัมพฤกษ์ อัมพาต



สิ่งที่เป็นอันตรายและไม่ช่วยรักษาโรคใด ๆ คือ การฉีดสารอีดีทีเอผสมกับวิตามินและแร่ธาตุ ขอย้ำว่า หากไม่มีพิษจากโลหะหนัก ไม่ต้อง “คีเลชั่น”

อันตรายที่อาจเกิดจาก “คีเลชั่น” ที่ไม่ถูกต้อง คือ ติดเชื้อในกระแสเลือดแคลเซียมต่ำลงจนชักหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ สูญเสียโปรตีนการแข็งตัวของเลือด  
 
คนเราไม่จำเป็นต้องไปตรวจหาสารโลหะหนักในร่างกาย ต้องบอกก่อนว่าสารบางอย่างมีอยู่ในร่างกายของคนเราอยู่แล้ว สำหรับคนที่ตรวจพบในปริมาณมาก แสดงว่าอาจจะมีการสัมผัสสารดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น คนทำงานในโรงงานแบตเตอรี่ มีโอกาสสัมผัสสารตะกั่ว อย่างคนทั่วไปค่าสารตะกั่วต้องน้อยกว่า 25 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร แต่ถ้าทำงานในโรงงานแบตเตอรี่กำหนดว่าค่าไม่ควรเกิน 40 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ถ้าเกินจากนี้แสดงว่าไม่ปลอดภัยในการทำงาน ดังนั้นต้องมาดูว่าทำไมเกิน หรือคนทั่วไปถ้าเกิน 25ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ก็ต้องไปดูว่ามีงานอดิเรก ทำกิจกรรมอะไร รับประทานอาหารอะไร ใช้ผลิตภัณฑ์อะไร เพราะโลหะหนักบางอย่างสามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังได้ ก่อนที่จะไปคีเลชั่นต้องแก้ที่ต้นเหตุก่อน บางคนเข้าใจว่าถ้าตรวจพบค่าโลหะหนักเกินจะต้องจัดการเอาออกทันที ทั้งที่ความจริงเราควรกลับไปแก้ที่ต้นเหตุก่อน ถ้าไม่แก้ต้นเหตุแล้วไปคีเลชั่นทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม ตรวจเจอเหมือนเดิม



ตัวอย่างกรณีที่พบในบ้านเรา เช่น โรงงานคัดแยกขยะละเลยปล่อยสารตะกั่ว จนทำให้ลูกของคนงานวัย 8 เดือน มีอาการชักเกร็งจนเกือบเสียชีวิตในปี 2555 กรณีนี้เกิดจากโรงงานไม่ได้มาตรฐาน ในเด็กรายนี้มีอาการรุนแรงต้องได้รับการรักษาด้วยการคีเลชั่นและควบคุมอาการชักในโรงพยาบาล คนงานที่มีอาการและตรวจพบระดับสารตะกั่วในเลือดสูงมากกว่า 70 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรก็ได้รับการรักษาและหยุดการสัมผัสสารตะกั่วเพิ่มเติม ส่วนคนงานที่ไม่มีอาการและระดับตะกั่วในเลือดไม่ถึง 70 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรเมื่อแก้ที่ต้นเหตุระดับสารตะกั่วก็ค่อยๆลดลงโดยไม่ต้องคีเลชั่น

อยากบอกว่าไม่ว่าการรักษาใดก็ตาม คนไข้ไม่ใช่หนูทดลอง ความเชื่อของคนเราห้ามไม่ได้ ต่อให้เราไปห้ามเขาก็ยังทำ ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ คือ การให้ข้อมูลความรู้ เพื่อให้ใช้วิจารณญาณก่อนไปทำ เพราะการรักษาทางเลือกบางอย่าง เราไม่รู้ว่า ยา หรือสารที่ใช้ คืออะไร มีการขึ้นทะเบียนหรือไม่ และมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ถ้าแพทย์นำไปใช้มีการลงบันทึกอย่างไร เพราะถ้าเกิดปัญหาภายหลังจะได้ตรวจสอบได้

ปัจจุบันมีการรักษาทางเลือกหลายสาขา จึงไม่แปลกที่อาจจะมีบางคนหาประโยชน์จากความเชื่อของคน ซึ่งการแพทย์แผนปัจจุบันตอบสนองไม่พอกับความต้องการของคนบางกลุ่ม ที่พูดไม่เฉพาะคีเลชั่นเท่านั้น แต่รวมไปถึงสุมนไพร อาหารเสริม ที่มีการอวดอ้างสรรพคุณในเรื่องความสวยงาม ทำให้อายุยืน แข็งแรง หรืออวดอ้างสรรพคุณทางเพศ

อ.นพ.สหภูมิ บอกด้วยว่า หากตรวจพบมีโลหะหนักในร่างกาย ความจริงทุกคนไม่ต้องไปเสียเงินทำคีเลชั่น เพราะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)มีโครงการจัดหายาต้านพิษให้กับทุกสิทธิ์การรักษาพยาบาลฟรีอยู่แล้ว และแม้จะตรวจพบสารโลหะหนักในปริมาณมากและเกินค่าที่กำหนด ก็ไม่ได้หมายความว่าค่าเกินแล้วต้องป่วย ไม่เหมือนกับคนที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด ดังนั้นหากไม่มีอาการเป็นพิษจากโลหะหนักก็ไม่ต้องคีเลชั่นแต่อย่างใด



ทราบแล้วเปลี่ยน !!??

ขอบคุณภาพจาก : Line Ramathibodi