ทางเลือกทางรอดผู้ป่วยมะเร็ง

2017-09-03 20:00:57

ทางเลือกทางรอดผู้ป่วยมะเร็ง

Advertisement

"อโรคยศาล วัดคำประมง" เผยทางเลือกและทางรอดของผู้ป่วยมะเร็ง  ไม่ยึดติดรูปแบบ ถือประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เน้นการถอดรหัสชีวิต ดูแลแบบองค์รวม พยาบาลระบุต้องทำให้ผู้ป่วยเข้าใจชีวิต ยอมรับความจริงพร้อมที่จะจากไปอย่างสงบ 
 
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. พระอาจารย์ปพนพัชร์ จิรธัมโม เจ้าอาวาสวัดคำประมง และผู้ก่อตั้ง อโรคยศาล วัดคำประมง จ.สกลนคร กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มะเร็งคร่าชีวิตคนไทยปีละ 6-7 หมื่นคน เป็นการตายอันดับหนึ่งของสาเหตุการตายทั้งหมดของประเทศ มะเร็งกำลังจะกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศต่าง ๆ ในโลกเช่นเดียวกัน การรักษาพยาบาลส่วนใหญ่แล้วจะรักษาด้วยการแพทย์ตะวันตก ซึ่งที่สุดก็ถึงทางตัน อโรคยาศาลเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งที่เปิดโอกาสให้การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ และการแพทย์ทางเลือก นำมาผสมผสานกันในการเยียวยารักษาผู้ป่วยมะเร็ง การดูแลแบบประคับประคองด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ผสมผสานต่าง ๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ตลอดระยะเวลา 13 ปี ที่ผ่านมา กับคนไข้มะเร็งมากกว่า 5,000 คน ทำให้เกิดองค์ความรู้ในการรักษามะเร็งจากการค้นคว้าวิจัยตำรับยาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้เกิดความมั่นใจและเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับวงการแพทย์และสาธารณชนได้นำไปรักษาด้วยตนเอง จนเกิดผลเป็นที่พอใจ

พระอาจารย์ปพนพัชร์ กล่าวด้วยว่า ทางอโรคยศาลได้จัดทำ “อโรคาฐิตะโมเดล”ซึ่งเป็นแบบจำลองธรรมะบำบัดแบบบูรณาการด้วยการแพทย์ผสมผสานกับการแพทย์แผนไทยตามแนวทางของอโรคยศาล ภายใต้บริบทวิถีไทย และวิถีธรรม ประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลลัพธ์ ผลกระทบ และผลย้อนกลับ สำหรับวิธีการบำบัด คือ การผสมผสานบูรณาการการแพทย์ทุกศาสตร์คือ การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ และการแพทย์ทางเลือก โดยอยู่บนพื้นฐานของคุณภาพและมาตรฐานในการดูแล รวมถึงมีการนำกิจกรรมบำบัดที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์นำมาใช้ในการทำกิจกรรมกับผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และจิตอาสา โดยใช้รูปแบบหลากหลาย ไม่ยึดติดในรูปแบบ ถือประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญไม่มีเรื่องธุรกิจมาเกี่ยวข้อง โดยเน้นการถอดรหัสชีวิต เน้นการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม




ด้าน น.ส.วิไลลักษณ์ ตันติตระกูล พยาบาลผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง เจ้าของวิทยานิพนธ์ “คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งหลังจากที่ได้มาบำบัดรักษา” คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2552 กล่าวว่า คุณภาพชีวิตและความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้ป่วยมะเร็งที่อโรคยศาลสูงกว่าที่อื่น นอกจากนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ ขณะที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ทำให้เกิดความเข้าใจชีวิต ยอมรับความจริงของชีวิต รู้จักการปล่อยวาง ความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ถี่เหนียว และความยึดมั่น ถือมั่น ทำให้รู้จักความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ แม้จะเจ็บป่วยในวาระสุดท้ายก็ยอมรับความจริงพร้อมที่จะจากไปอย่างสงบ หลาย ๆ คนที่มารักษาที่อโรคยศาล ถึงกับเอ่ยปากว่า ขอบคุณที่เป็นมะเร็ง