ศึกษาชี้ "เศรษฐกิจโลก" รายได้ลดฮวบเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2024-04-19 10:00:17

ศึกษาชี้ "เศรษฐกิจโลก" รายได้ลดฮวบเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Advertisement

เบอร์ลิน, 18 เม.ย. (ซินหัว) — สถาบันวิจัยผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแห่งพอสดัม (PIK) ในเยอรมนีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญการสูญเสียรายได้ร้อยละ 19 ภายในปี 2050 เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้มีการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างฉับพลันก็ตาม

ผลการศึกษาข้างต้นที่เผยแพร่ผ่านวารสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์ (Nature) เมื่อวันพุธ (17 เม.ย.) ระบุว่าการสูญเสียรายได้ดังกล่าวสูงกว่าค่าใช้จ่ายของมาตรการบรรเทาผลกระทบอันจำเป็นต่อการจำกัดอุณหภูมิโลกให้ไม่ร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียสถึง 6 เท่า

การสูญเสียรายได้ทั่วโลกต่อปีมีแนวโน้มอยู่ที่ราว 38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.4 พันล้านล้านบาท) ในปี 2050 โดยมีช่วงแปรผันอยู่ที่ 19-59 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 700-2,000 ล้านล้านบาท) และความเสียหายเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากอุณหภูมิสูงขึ้น กอปรกับการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและความแปรปรวนของอุณหภูมิ

คณะนักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลของภูมิภาคต่างๆ มากกว่า 1,600 แห่ง ในกรอบระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา เพื่อศึกษาว่าการเปลี่ยนแปลงและความสุดขั้วของสภาพภูมิอากาศส่งอิทธิพลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไร ตามด้วยการคำนวณว่าสิ่งเหล่านี้มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อกิจกรรมของเศรษฐกิจโลกในช่วง 26 ปีข้างหน้าอย่างไร

แม็กซิมิเลียน ค็อตซ์ นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ และผู้เขียนผลการศึกษาคนแรก เผยว่าภูมิภาคส่วนใหญ่ รวมถึงอเมริกาเหนือและยุโรป จะมีรายได้ลดลงอย่างมาก โดยเอเชียใต้และแอฟริกาจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องด้วยผลกระทบในหลายมิติอันเกี่ยวพันกับการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น ผลผลิตการเกษตร ผลิตภาพแรงงาน หรือโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ โครงการเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าเดือนมีนาคมของปี 2024 ถือเป็นเดือนมีนาคมที่มีสภาพอากาศอบอุ่นมากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้

รายงานเสริมว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมราว 1.58 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส 2015 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว

ลีโอนี เวนซ์ นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษานี้ เน้นย้ำว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเป็นผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นแล้ว และจำเป็นต้องมีมาตรการปรับตัวเพื่อบรรเทาผลกระทบเหล่านี้

เวนซ์เสริมว่าทั่วโลกต้องลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมากและทันที มิเช่นนั้นความเสียหายทางเศรษฐกิจจะยิ่งมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษ คิดโดยรวมจะสูงเฉลี่ยถึงร้อยละ 60 ภายในปี 2100