เปิดกรุ “เครื่องราชบรรณาการ” ราชทูต “โกษาปาน” นำถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

2018-03-28 18:15:19

เปิดกรุ “เครื่องราชบรรณาการ” ราชทูต “โกษาปาน” นำถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

Advertisement

พระราชวังแวร์ซาย หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศฝรั่งเศส ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปารีส ณ เมืองแวร์ซาย นับเป็นพระราชวังที่มีความยิ่งใหญ่และสวยงามอลังการ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรรย์ของโลก

ตามประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงเมืองแวร์ซายว่า ในอดีตเป็นเพียงเมืองเล็กๆ พื้นที่ส่วนมากจะเต็มไปด้วยป่าเขา หากเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ผู้ซึ่งชื่นชอบการล่าสัตว์เล็งเห็นว่าแวร์ซาย เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการล่าสัตว์เป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการสร้างพระตำหนักขนาดเล็กไว้เพื่อเป็นที่พักชั่วคราวในการออกล่าสัตว์เท่านั้น ภายหลังในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ทำการบูรณะตำหนักแห่งนี้เพื่อให้กลายเป็นพระราชวังศูนย์กลางการปกครองของพระองค์ โดยใช้เวลาการสร้างถึง 30 ปี งบประมาณ 500,000,000 ฟรังก์ และคนงานก่อสร้าง 30,000 คน หลังการปฏิวัติครั้งสำคัญของฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปป์ ได้เปลี่ยนแปลงพระราชวังให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์และสถานที่ลงนามในสัญญาสงบศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงเรียกได้ว่าเป็นสถานที่ที่ไม่เพียงแต่ความสวยงามที่น่าตะลึง แต่ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก

เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงครองกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2228 พระองค์ได้ทรงจัดส่งคณะทูตชุดหนึ่ง นำโดยออกพระวิสูตรสุนทร (ปาน) เป็นราชทูต (โดยมากเป็นที่รู้จักกันในนามโกษาปาน ) ออกหลวงกัลยาราชไมตรีเป็นอุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจาเป็นตรีทูต เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยได้ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยา ในเดือน ธ.ค. พ.ศ.2228 ถึงเมืองเบรสต์ในฝรั่งเศส วันที่ 18 มิ.ย. พ.ศ.2229




ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 27 ได้บันทึกเรื่องราวของการไปครั้งนั้นไว้อย่างละเอียด เพราะเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วปารีสในสมัยนั้นถึงความวิริยะอุตสาหะของคณะราชทูตไทยและความตั้งใจอันแน่วแน่ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรื่องของราชทูตถูกตีแผ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ แมร์คูร์กาลัง ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่รู้ข่าวมากที่สุดในสมัยนั้นของปารีส เนื้อหาในเล่มเต็มไปด้วยข่าวเรื่องราชทูตสยามซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั่วไปอยากรู้ด้วยกันทุกคน และผู้ที่แต่งเรื่องลงหนังสือพิมพ์นั้น ก็ได้กล่าวว่าข้าราชการไทยเป็นคนที่ดี เป็นคนที่มีความรู้ที่สุดในฝ่ายทิศตะวันออก

ในจดหมายเหตุที่เชอวาเลียเดอโชมองได้แต่งไว้ ได้ลงบัญชีของต่างๆ ที่พระเจ้ากรุงสยามส่งมาถวายพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส โดยละเอียดมาก คือ มีคนโทน้ำทำด้วยทองคำ ขวดทองคำ ถ้วยทองคำ หีบทองคำ ตู้เล็กๆ ทำด้วยกระ หีบและโต๊ะญี่ปุ่น พรมมาจากเมืองฮินดูซตัน และพรมเมืองจีน กับเรือทำด้วยทองคำ 1 ลำ และปืนใหญ่ปลอกเงิน 2 กระบอก เครื่องลายครามอย่างงามที่สุด 1,500 ชิ้น



ส่วนของที่คอนสแตนติน ฟอลคอน ส่งมาถวายนั้นมี สายสร้อยทองคำ ถ้วยแก้ว กล่องใส่ยานัตถุ์ เครื่องลายคราม ลับแล แจกัน ผ้าต่างๆ ลูกปัด นอแรด เขากระบือ และของต่างๆ อีกหลายอย่าง นอกจากของเหล่านี้ยังมีของที่พระเจ้ากรุงสยามส่งมาพระราชทานมกุฎราชกุมารฝรั่งเศส ของที่พระราชินีสยามส่งมาพระราชทานมกุฎราชกุมารี ซึ่งมีหีบเขียนหนังสือ และหัวใจทำด้วยเงิน 1 อัน และยังมีของที่พระราชินีสยามส่งมาพระราชทานท่านดุกเดอบูรกอยน์ และดุกดังยูอีก กับของต่างๆ ที่คอนสแตนติน ฟอลคอน ฝากมาให้ “มาควิศเดอเซงแล” และ “มาควิศเดลครัวซี” รวมของทั้งสิ้นกว่า 3,000 สิ่ง และของบางอย่างทำด้วยฝีมืออย่างประณีตงดงามยิ่งนัก ของต่างๆ เหล่านี้ได้วางเรียงไว้ในท้องพระโรงทั้งสิ้น 

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้เสด็จออกรับแขกเมือง ณ พระราชวังแวร์ซาย เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2229ทรงโปรดให้คณะราชทูตไทยเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการ ณ ท้องพระโรงที่เรียกกันว่า ซาลองเดอลาเป (ห้องแห่งสันติภาพ) ในปัจจุบันเรียกว่า ห้องกระจก (Hall of Mirrors)

ติดตามชมสารคดี “สำรวจโลก” ตอน “พระราชวังแวร์ซาย” ร่วมค้นหาคำตอบ...เหตุใดสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงต้องส่งคณะฑูตนำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส และเรื่องราวความสำคัญและความสง่างามของพระราชวังแวร์ซายได้ในวันศุกร์ที่ 30 มี.ค.-วันอาทิตย์ที่ 1 เม.ย.นี้ (3 วันติดต่อกัน) เวลา 21.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEW18





ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก www.silpa-mag.com