ประจวบคีรีขันธ์เฝ้าระวัง "โรคลีเจียนแนร์"

2024-04-05 16:26:08

ประจวบคีรีขันธ์เฝ้าระวัง "โรคลีเจียนแนร์"

Advertisement

ประจวบคีรีขันธ์เฝ้าระวัง "โรคลีเจียนแนร์" หลังพบผู้ป่วยต่างชาติ 4 รายในพื้นที่ อ.หัวหิน

เมื่อวันที่ 5 เม.ย.67 ที่ห้องประชุมราชภักดิ์ ชั้น 5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รอง ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นพ.วรา เศลวัตนะกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อสำคัญในพื้นที่ โดย 10 ลำดับโรคที่พบผู้ป่วยสะสมสูงสุด ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค.67 ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ 1,226 ราย  ปอดบวม 933 ราย ไข้เลือดออก 229 ราย วัณโรค 183 ราย  มือ เท้า ปาก 177 ราย  อาหารเป็นพิษ 173 ราย  มาลาเรีย 131 ราย   โควิด 19 ผู้ป่วยสะสม 46 ราย  หนองใน 33 ราย และไข้ซิกา 24 ราย

นพ.วรา ได้รายงานสถานการณ์โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires’ Disease) ของ จ.ประจวบคีรีขันธ์  ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. - 18 มี.ค.67 มีรายงานผู้ป่วยสะสม จำนวน 5 ราย ได้แก่ สัญชาติเมียนมา 1 ราย (อาศัยในพื้นที่อำเภอสามร้อยยอด) และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.หัวหิน จำนวน 4 ราย ได้แก่ สัญชาติเนเธอร์แลนด์ 2 ราย สวีเดน 1 ราย และเยอรมนี 1 ราย ซึ่งมีประวัติเข้าพักในโรงแรม คอนโดมิเนียม เกสต์เฮาส์ และโครงการบ้าน ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  ได้ทำการสอบสวนควบคุมโรค สำรวจเก็บตัวอย่างน้ำใช้ในบ้าน โรงแรมและที่พักของผู้ป่วยทั้ง 4 ราย สำรวจโครงสร้างระบบน้ำประปาของเทศบาลเมืองหัวหิน รวมถึงการหาจุดที่คาดว่าจะพบเชื้อในสถานที่ต่างๆ ที่สอดคล้องกับการเกิดโรคส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบ

ทั้งนี้ โรคลีเจียนแนร์ ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ เป็นโรคที่เกิดจากการที่ปอดติดเชื้อแบคทีเรียลีจิโอเนลลา โดยแบคทีเรียชนิดนี้สามารถพบได้ในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในน้ำอุ่นประมาณ 32 - 45 องศาเซลเซียส ทั้งแหล่งน้ำตามธรรมชาติ อย่างแม่น้ำหรือทะเลสาบ และแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียลีจิโอเนลลาส่วนใหญ่มักได้รับเชื้อมาจากแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยเฉพาะในอาคารขนาดใหญ่และโรงแรม โดยลักษณะอาการเด่นที่มักพบได้ เช่น ปวดศีรษะขั้นรุนแรง ไข้ขึ้นสูง หายใจไม่อิ่ม ปวดกล้ามเนื้อ และไอ ถ้าเป็นมากอาจพบลุกลามเป็นโรคปอดบวม ช่องทางการติดเชื้อติดได้จากการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ ความชื้น การสำลักน้ำที่มีเชื้อเข้าไปในปอดโดยตรง เป็นโรคที่ไม่ติดต่อจากคนสู่คน แต่ต้องเฝ้าระวังการระบาดไม่ให้ขยายวงกว้าง โดยขณะนี้ ร.พ.หัวหิน และ ร.พ.กรุงเทพ หัวหิน ได้ประสานความร่วมมือ หากพบผู้ป่วยรายใหม่ระหว่างวันที่ 28 มี.ค. - 24 เม.ย.67 จะมีการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อลีเจียนแนร์

นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รอง ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์  กล่าวว่า ในระหว่างที่รอผลตรวจตัวอย่างน้ำ ขอให้เทศบาลเมืองหัวหิน ดูเรื่องของปริมาณคลอรีนน้ำประปาของเทศบาลให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แม้โรคนี้จะไม่ได้น่ากลัวมากนัก ไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คน แต่หากพบผู้ป่วยมากก็อาจจะกระทบต่อการท่องเที่ยวได้

ด้าน นางวาสนา ศรีกาญจนา นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน-ชะอำ กล่าวว่า ขณะนี้ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการโรงแรมสถานที่พักซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ได้รับทราบแล้วเกี่ยวกับการพบผู้ป่วยโรคลีเจียนแนร์ ที่หัวหิน เพื่อเฝ้าระวังตรวจสอบระบบน้ำ ช่องน้ำทิ้งต่างๆ ภายในโรงแรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ