"บิ๊กต่าย"เข้าพบนายกฯ ยังไม่สั่ง "บิ๊กโจ๊ก" หยุดปฏิบัติหน้าที่

2024-04-03 18:49:52

"บิ๊กต่าย"เข้าพบนายกฯ ยังไม่สั่ง "บิ๊กโจ๊ก" หยุดปฏิบัติหน้าที่

Advertisement

 
"บิ๊กต่าย"เข้าพบนายกฯ  ยังไม่สั่ง "บิ๊กโจ๊ก" หยุดปฏิบัติหน้าที่  ลั่นไม่หนักใจ มุ่งมั่นกวาดบ้านให้สำเร็จ

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 67 ที่รัฐสภา พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์  รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าพบและหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง   ว่า มารายงานในเรื่องของขั้นตอนและกระบวนการที่จะพิจารณากรณีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล​ รองผบ.ตร. ส่วนจำเป็นต้องให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนหรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ทุกอย่างมีกระบวนการและขั้นตอนที่จะพิจารณา เราจะพิจารณาว่าเอาแบบนี้เลยไม่ได้ เพราะมีกฎหมายระเบียบและคำสั่งที่ตนในฐานะผู้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติ โดยแยกเป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ก่อน และวันนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี  ตนยังเป็นผู้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตามกฎหมาย ดังนั้นการพิจารณาในเรื่องของวินัยเป็นหน้าที่ของผม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ตามมาตรา 105 ซึ่งในกระบวนการขั้นตอนจะต้องได้รับรายงานจากคณะพนักงานสอบสวนของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ฉบับ โดยขณะนี้ยังไม่มีการรายงานมา และฉบับที่ 2 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ต้องรายงานตัวว่าตนเองต้องคดี ซึ่งทั้ง 2 อย่าง 2 เส้นทางนี้ เป็นไปตามระเบียบตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ซึ่งมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน และเมื่อ 2 รายงานนี้มาถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะต้องรายงานมาที่กองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ไม่ได้ส่งตรงมาที่ผม และเมื่อกองคดีอาญารวบรวมรายงานแล้ว จะรายงานมาที่ตนเพื่อพิจารณาเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด

รักษาการ ผบ.ตร. กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันกองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะต้องรายงานผลเช่นกัน โดยเอารายงานทั้ง 2 ฉบับประกอบด้วย เหตุผล พฤติการณ์ ความรุนแรงแห่งคดี นำมาประกอบการพิจารณาในฐานะฝ่ายอำนวยการให้รักษาการ ผบ.ตร.ได้พิจารณา ซึ่งการพิจารณาเราจะดูว่า มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำผิดวินัยเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นขั้นตอน และเมื่อกองวินัยได้ประมวลขึ้นมาว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำผิดวินัยก็เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา คือผมจะต้องพิจารณาตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏและให้โอกาสกับผู้ถูกสืบสวนข้อเท็จจริงได้ชี้แจง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่กำหนดไว้

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวอีกว่า ในขั้นตอนกระบวนการสืบสวนข้อเท็จจริงจะยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องของการพักราชการ ออกราชการ หรือสำรองราชการไว้ก่อน เพราะเป็นการปฏิบัติภายใต้กฎ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่กำหนดไว้ ซึ่งการสืบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงจะต้องใช้ระดับไม่ต่ำกว่าที่มียศต่ำกว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งตรงนี้ตนต้องไปพิจารณาว่าจะมอบหมายให้ใคร ขณะนี้ยังไม่ถึงกระบวนการดังกล่าว แต่หากการสืบสวนข้อเท็จจริงปรากฏเหตุออกมาว่า มีการกระทำความผิดวินัยร้ายแรงเกิดขึ้นก็จะไปเข้าอีกบทบัญญัติหนึ่งของมาตรา 119 ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ว่าจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาทางวินัยอีกระดับหนึ่ง ซึ่งในขั้นตอนนั้นก็จะมีการใช้การพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขในกฎ ก.ตร. หรือไม่ เข้าองค์ประกอบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตำรวจปี 2565 ในมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งมีการกำหนดไว้อยู่แล้ว

เมื่อถามว่า กรณีที่ศาลออกหมายจับจะต้องนำคำสั่งศาลที่อนุมัติหมายจับดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วยใช่หรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ทุกอย่างกองวินัยจะนำมาประกอบการพิจารณา ซึ่งจะมีกำหนดไว้เป็นข้อๆ อยู่แล้วว่าผู้ชี้แจงหรือผู้รายงานตนต้องคดีอาญาจะต้องรายงานอะไรเป็นข้อๆ หากถามว่า ณ เวลานี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะต้องถูกพักหรือไม่ ขอเรียนว่า ไม่ว่าจะเป็นชั้นยศใดจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ระเบียบและคำสั่ง ซึ่งข้าราชการตำรวจทุกคนต้องปฏิบัติตามนั้น ซึ่งยังถือว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังคงต้องปฏิบัติราชการอยู่ตามปกติ นี่คือสิ่งที่เราต้องให้ความเสมอภาคและเป็นธรรมกับข้าราชการทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน วันนี้ที่มารายงานนายกรัฐมนตรีเรื่องความคืบหน้าในสิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำลังขับเคลื่อนเดินหน้าไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าบ่อนการพนันต้องไม่มี การพนันออนไลน์ต้องหายไป แก๊งทวงหนี้ที่ทำผิดกฎหมายจะต้องถูกจับกุม เรื่องยาเสพติดเราจะต้องปราบปรามอย่างเด็ดขาดจริงจัง โดยใช้มาตรการทางกฎหมายมาใช้ หากพบว่าข้าราชการคนไหนเข้าไปเกี่ยวข้องก็เป็นขบวนการขั้นตอนที่จะต้องพิจารณาไปตามนั้น ผมอยากให้สื่อมวลชนกับพวกเราทุกคนมุ่งหน้าไปสู่เรื่องของการทำให้ประชาชนเชื่อมั่น 

ต่อข้อถามว่า กรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบได้มีการกำหนดระยะเวลาหรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า มีกำหนดไว้ในกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) อยู่แล้วภายใน 60 วันที่จะต้องดำเนินการ และสามารถขอขยายระยะเวลาได้ ถึงเวลานั้นคณะกรรมการเขารู้อยู่แล้ว   เมื่อถามต่อว่าการตั้งคณะกรรมการจะเป็นการยื้อเวลาหรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า อย่าใช้คำว่ายื้อ เรียนว่าทุกอย่างมีขั้นตอนกระบวนการที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ไม่มียื้อ เราต้องให้ความเสมอภาคเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สื่อมวลชนก็ได้ยินท่านพูดว่าขณะนี้ท่านคือผู้บริสุทธิ์ ก็มีหน้าที่พิสูจน์ตัวเองไป ส่วนตนเป็นผู้บังคับบัญชาก็เข้าสู่กระบวนการขั้นตอนกฎหมาย ระเบียบคำสั่ง 

เมื่อถามต่อว่า หนักใจหรือไม่กับการทำหน้าที่บนความขัดแย้งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ไม่มีอะไรหนักใจเลย อยากทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและผลสะท้อนกลับไปสู่ประชาชน ให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ลดความหวาดระแวง และจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นและศรัทธาเราโดยอัตโนมัติเอง

เมื่อถามว่าวันนี้ยิ่งถูกมองว่าองค์กรตำรวจขาดความศรัทธาจากประชาชน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ดูกันไปครับ  ส่วนสามารถกวาดบ้านของตัวเองได้หรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า เป็นความมุ่งมั่นที่จะทำ