สภาฯผ่านฉลุยกฎหมายสมรสเท่าเทียม

2024-03-27 17:18:29

สภาฯผ่านฉลุยกฎหมายสมรสเท่าเทียม

Advertisement

สภาฯผ่านฉลุยกฎหมายสมรสเท่าเทียม  บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดหมั้นหรือสมรสกันได้

เมื่อวันที่ 27 มี.ค.67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เข้าสู่วาระการพิจารณาร่าง  พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่... พ.ศ. ... (สมรสเท่าเทียม) วาระที่ 2 และ 3 ที่กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีทั้งหมด 68 มาตรา มีผู้สงวนความเห็น 14 มาตรา รายละเอียดสำคัญมีการปรับแก้โดยเฉพาะเนื้อหาการหมั้นและสิทธิในการเข้าถงสวัสดิการต่างๆ

โดยเมื่อเริ่มเข้าสู่วาระ นายดนุพร ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ได้กล่าวถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับการคุ้มครอง การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เราทำเพื่อคนไทยทุกคน เพราะหลังจากมีการผ่านวาระ 1 เราได้ฟังเสียงรอบด้าน เราพูดคุยถกเถียงกันว่ากฎหมายฉบับนี้ ทำเพื่อคนใดคนหนึ่งหรือไม่ ซึ่งเราพิจารณาด้วยความรอบคอบ และขอยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ ชายหญิงทั่วไปเคยได้รับสิทธิ์อย่างไร ทุกคนจะไม่เสียสิทธิ์แม้แต่น้อย สิทธิในทางกฎหมายยังเท่าเดิมทุกประการ และในทางเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเรียกว่าเป็น LGBT ผู้ชายข้ามเพศ ผู้หญิงข้ามเพศ

"ผมเชื่อว่าทุกคนในที่นี้ รวมถึงพี่น้องประชาชนชาวบ้านทราบดี ว่าเราไม่ได้มีเพียงแค่เพศชายเพศหญิงเท่านั้น มีคนกลุ่มหนึ่งที่อาจเลือกเกิดไม่ได้ แต่คนเหล่านี้ เขาเลือกที่จะเป็นตามสิ่งที่เขาต้องการ เพราะฉะนั้น กฎหมายฉบับนี้ เราต้องการที่จะคืนสิทธิ์ให้คนกลุ่มนี้ เราไม่ได้ให้สิทธิ์เขา" นายดนุพร กล่าว

นายดนุพร กล่าวต่อว่า สิทธิ์การรักษาพยาบาล การลดหย่อนภาษีต่างๆ การเสียภาษี รวมถึงการลงนามยินยอมให้เข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล คนเหล่านี้เขาไม่เคยได้สิทธิ์แบบนี้ ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เป็นการคืนสิทธิ์ และทุกพรรคการเมือง ตอนหาเสียงเลือกตั้ง เราเคยบอก ว่าจะทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่เท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความเท่าเทียม พวกเราเข้าใจอย่างดี ว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ยาที่จะรักษาได้ทุกโรค แต่อย่างน้อยเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆในการที่จะสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม วันนี้ฝาก ส.ส. ทุกท่านร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เราจะเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เราจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเราจะภาคภูมิใจในเวทีโลกที่ประเทศไทยวันนี้เห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำในสังคม เห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเพศ 

จากนั้นเป็นการเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายรายมาตรา โดยภาพรวมที่ประชุมได้เปิดให้ ส.ส. แสดงความคิดเห็น พิจารณาเรียงตามรายมาตรา ซึ่ง กมธ. เสียงข้างน้อย ที่มาจากภาคประชาชน ได้เสนอขอให้บัญญัติเพิ่มคำว่า "บุพการีลำดับแรก" (ที่ทำหน้าที่เสมือนมารดา-บิดา) เพื่อให้เกิดคำกลาง ๆ ลงในร่างกฎหมายแทนบิดา-มารดา รองรับความสมบูรณ์ของครอบครัวให้คู่สมรสเพศเดียวกัน แต่ กมธ. เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การกำหนดบุพการีลำดับแรก เป็นคำใหม่ที่ไม่เคยบัญญัติในกฎหมาย และไม่มีการให้คำนิยาม จึงอาจเกิดผลกระทบในการบังคับใช้ได้ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลที่จะกระทบต่อกฎหมายทั้งหมดของประเทศ ที่ประชุมจึงมีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบตามการปรับแก้ของ กมธ.เสียงข้างมาก ทั้งนี้ เมื่อบุคคล 2 คน ไม่ว่าจะเพศเดียวกัน หรือต่างเพศกัน จดทะเบียนสมรสร่วมกันแล้ว ก็จะมีสภานะ  "คู่สมรส"

ดังนั้น ก็จะไปเข้าเงื่อนไขในกฎหมายอื่น ๆ ที่รองรับสิทธิประโยชน์ของ  "คู่สมรส" อาทิ สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา, สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิจัดการศพ, สิทธิได้รับประโยชน์ และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม, สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงคู่สมรส ยังสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ พร้อมรับรองถึงกฎหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีใด อ้างถึงสามี ภริยา หรือสามีภริยา ให้ถือว่าอ้างตามคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ด้วย

จากนั้นที่ประชุมลงมติในวาระ 3 มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 400 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3 ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของ กมธ.วิสามัญ เพื่อส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป

สำหรับสาระสำคัญกฎหมายฉบับนี้ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมมี 68 มาตรา เช่น กำหนดให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดหมั้นหรือสมรสกันได้ ให้การหมั้นจะทำได้เมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว, เพิ่มเหตุเรียกค่าทดแทนเหตุฟ้องหย่าให้ครอบคลุมเมื่อฝ่ายหนึ่งไปมีสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้เมื่อมีผลบังคับใช้ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 47 ฉบับ