รู้ทันกระจกตาโก่ง

2018-03-17 12:30:00

รู้ทันกระจกตาโก่ง

Advertisement

จักษุแพทย์ชี้ภาวะกระจกตาโก่งเกิดจากเส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอ พบสัมพันธ์กับการขยี้ตารุนแรง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ เตือนปล่อยไว้ไม่รักษาอาจทำให้กระจกตาพิการ ตาบอดได้ เผยวิธีการรักษาแบบใหม่ใส่วงแหวนขึงกระจกตา และฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ

รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยศูนย์เลเซอร์สายตาจุฬาฯ ฝ่ายจักษุวิทยา และภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานประชุมวิชาการโรคกระจกตาโก่ง(Keratoconus Meeting) และกิจกรรมเสวนาให้ความรู้และแนวทางการรักษาเกี่ยวกับโรคกระจกตาโก่งกับประชาชนทั่วไป ณ บริเวณหน้าศูนย์เลเซอร์สายตา ตึก 14 ชั้น รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตา รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ภาวะกระจกตาโก่งเกิดจากเส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอ ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์กับการขยี้ตาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่มักขยี้ตาด้วยการใช้ข้อนิ้วกดลูกตา จนเกิดการโก่งของกระจกตา อันจะส่งผลต่อค่าสายตา หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจทำให้กระจกตาพิการและตาบอดได้ สำหรับวิธีการรักษาแบบใหม่ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในแวดวงจักษุแพทย์ ก็คือ การใส่วงแหวนขึงกระจกตาและการฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ (Crosslinking) ถือเป็นอีกทางเลือกที่ให้ผลการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้ป่วยหลายรายไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มีความซับซ้อนและต้องรอคอยกระจกตาจากผู้บริจาคอวัยวะนั่นเอง





รศ.พญ.งามจิตต์ ยังให้คำแนะนำด้วยว่า ผู้ที่สายตาสั้นหรือเอียง แล้วต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อยๆ เนื่องจากค่าสายตาสั้น หรือสายตาเอียงเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นคือ 100 หรือ -1.0 ต่อปี อาจต้องพึงระวังโรคกระจกตาโก่ง และเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยละเอียด และแนะนำว่าไม่ควรขยี้ตาอย่างรุนแรงด้วย