โรคพิษสุนัขบ้ากลับมาแล้ว

2018-03-07 13:40:26

โรคพิษสุนัขบ้ากลับมาแล้ว

Advertisement

นขณะนี้หลายจังหวัดมีรายงานการพบโรคพิษสุนัขบ้าในคน และในสัตว์ทั้งสุนัข แมว รวมทั้งวัว ควาย ด้วย ส่งผลให้ประชาชนให้ความสนใจโรคนี้กันมากขึ้น 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่  กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ตัวนำโรคและแพร่เชื้อที่สำคัญคือหมาเป็นส่วนใหญ่มีส่วนน้อยคือแมว



จากในช่วง 20 ถึง 30 ปีที่แล้ว เรามีคนเสียชีวิตไม่ต่ำกว่าปีละ 300 ถึง 400 ราย จนกระทั่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาพบต่ำกว่า 10 ราย แต่อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา 2 ปีหลังพบว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 รายโดยในปีที่แล้วถ้านับรวมสูงถึง 17 รายด้วยกัน และปีนี้พบอย่างน้อยหนึ่งราย

เนื่องจากสถิติในประเทศไทยมักจะตัดผู้เสียชีวิตที่เกิดจากหมาตามตะเข็บชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วต้องนับรวม เนื่องจากธรรมชาติหมาก็วิ่งไปมาข้ามพรมแดนได้ นอกจากนั้นการที่คนพาหมาข้ามหรือย้ายถิ่นฐานไปด้วย ทำให้โลกมีการระบาดในวงกว้าง





การที่ต้องเฝ้าสังเกตการติดเชื้อซึ่งมาจากหมาชายขอบเหล่านี้ ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสืบค้นจากรหัสพันธุกรรมของไวรัสว่าแพร่มาจากทางไหน และเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนการตรวจทางอณูชีววิทยา ซึ่งต้องวางการตรวจจับตามรหัสพันธุกรรมจำเพาะของไวรัส ไม่เช่นนั้นจะตรวจไม่เจอ ดังที่เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วผู้ป่วยเสียชีวิตและการตรวจทางรหัสพันธุกรรมสืบสาวไปว่าเชื้อในเขครอยต่อกับพม่ามีถิ่นฐานจากที่แพร่ในประเทศจีน

ในระยะ 3 ปีมานี้มีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจในสัตว์ทั้งหมาซึ่งนำเชื้อไปติดในวัว ควาย ประมาณคร่าวๆว่า มีไม่ต่ำกว่า 50 จังหวัดที่หมามีการติดเชื้อและทำให้เชื้อที่ตรวจพบในหัวหมาที่ต้องสงสัยเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็นในบางพื้นที่สูงถึง 30% จนถึงเกือบ 50% และตัวเลขของคนที่ถูกหมากัด ดูจะเพิ่มมากขึ้นทุกทีและแน่นอนต้องได้รับการฉีดวัคซีนและถ้าแผลมีเลือดออกต้องได้รับการฉีดสารสกัดน้ำเหลือง ที่ทำจากม้าหรือคนก็ตาม ซึ่งราคาแพงและมีปริมาณไม่เพียงพอนัก





ในพื้นที่ซึ่งมีการตรวจพบสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้าแสดงว่าในพื้นที่นั้นมีตัวที่เป็นโรคและแพร่เชื้อได้เรียบร้อยแล้ว ตัวแรกที่เป็นก็ตายไป แต่ก็แพร่เชื้อให้ตัวอื่นๆ ในขณะที่เขายังไม่มีอาการบ้าชัดเจนแต่กัดสู้กันเล่นกัน และยังแพร่เชื้อได้มากขึ้นในขณะที่เขามีอาการบ้าแล้ว

ตัวอื่นๆและเพื่อนๆที่ถูกกัดและได้รับเชื้อไม่ได้หมายความว่าทุกตัวจะเป็นบ้าเนื่องจากเชื้อไม่ได้ออกมาทางน้ำลายตลอดเวลา และเมื่อได้รับเชื้อก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นทุกราย

สำหรับในคนแม้ถูกสุนัขบ้ากัด ก็ไม่จำเป็นต้องตายทุกรายโดยอยู่ในช่วง 30 ถึง 80%





สำหรับสัตว์ที่ได้รับเชื้อและติดไปแล้วเชื้อจะสงบอยู่ในตำแหน่งที่แผลโดยจะมีการขยายจำนวนทีละเล็กทีละน้อยขึ้นอยู่กับกลไก ของเซลล์กล้ามเนื้อว่าจะกดไวรัสได้ดีแค่ไหน หลังจากนั้นก็จะเริ่มลุกลามเข้าไปในปลายเส้นประสาทและเคลื่อนเข้าไปในไขสันหลังและก้านสมองและสมองใหญ่ จากนั้นจึงแพร่ออกจากระบบประสาทออกไปทั่วร่างกายอีกครั้ง ไปที่อวัยวะภายใน กล้ามเนื้อและออกมาทางน้ำลาย

ระยะเวลาที่ติดเชื้อแล้วจนกระทั่งแสดงอาการอยู่ในช่วงระยะส่วนมากคือ 2 เดือนแต่ก็อาจยาวนานถึง 1 ปี เราได้พิสูจน์แล้วพบว่า แม้เชื้อเข้าไปในสมองแล้ว คนไข้ก็จะไม่แสดงอาการใดๆทั้งสิ้นได้ โดยอาจนานได้ถึง 6 สัปดาห์ถึง 2 เดือน ซึ่งการแพร่เชื้อทางน้ำลายให้คนอาจจะเกิดขึ้นได้หลายวันก่อนที่จะแสดงอาการเช่นเดียวกับสุนัข

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใด ๆ ที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยชีวิตคนป่วยที่มีอาการแล้วและแม้แต่การรักษาที่รายงานในสหรัฐก็พิสูจน์แล้วว่าผู้ป่วยรอดชีวิตเองเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเกิดขึ้นเร็วมากและเป็นโชคดีที่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ทั้งหมด



เหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงในหลายจังหวัดทางภาคเหนือจำเป็นต้องเอาใจใส่และควบคุมให้ได้ทันท่วงที ในกรณีที่ในพื้นที่ดังกล่าวพบสัตว์ที่เป็นบ้า ถ้าไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันสุนัขและแมวซึ่งเป็นตัวที่แพร่เชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะมีการแพร่กระจายออกไปเรื่อยๆ




สำหรับตัวที่ติดเชื้อไปแล้วและเชื้อเข้าเส้นประสาทแล้ว การฉีดวัคซีนจะไม่ได้ผล แต่อย่างไรก็ตามตัวที่ฉีดวัคซีนได้ผลก็จะไม่เกิดโรค ส่วนตัวที่ป้องกันไม่ได้ก็จะตายไป

ดังนั้นในพื้นที่ที่มีการระบาดต้องเฝ้าสอดส่องอย่างน้อย 6 เดือน



การตรวจน้ำลายในสัตว์ที่ต้องสงสัยและยังไม่ได้เสียชีวิตโดยการหาไวรัสด้วยวิธีอนุชีววิทยาไม่ควรกระทำทั้งนี้เนื่องจากไวรัสไม่ได้ออกมาตลอดเวลาแล้วจะเกิดความเข้าใจผิดว่าไม่เป็นบ้าและเจ้าของจะตายตกไปตามกัน

การที่เกิดมีการระบาดแพร่กระจายทั่วประเทศไทยไม่อาจโยนความผิดไปให้ใครได้เลยนอกจากตัวเองทั้งนี้เพราะไม่ได้คุมกำเนิดหมาแมวปล่อยให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นและไม่ได้ทำการฉีดวัคซินป้องกันโรค เมื่อเกิดการระบาดแน่นอนต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด คนในพื้นที่ต้องร่วมมือร่วมใจกับเจ้าหน้าที่และขณะเดียวกัน ถ้าเป็นไปได้ว่ามีการสัมผัสโรคจากสัตว์ในบริเวณพื้นที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการฉีดยาป้องกันตามระดับการสัมผัสอย่างถูกต้อง อย่าผลักภาระ อย่าโทษเจ้าหน้าที่รัฐทางสาธารณสุขและปศุสัตว์ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกัน