108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : นอนอย่างไรที่เรียกว่าดี

2018-01-09 14:00:30

108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : นอนอย่างไรที่เรียกว่าดี

Advertisement

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตของเราคือการนอน ซึ่งถือว่าเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด มีผลอย่างมากต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันของเรา โดยการนอนแบ่งออกเป็น 2 วงจร ซึ่งจะเกิดขึ้นสลับกันไปในแต่ละคืน



1. Non-Rem Sleep
คือ ช่วงของการหลับตื้นไปจนถึงหลับลึก 

2. Rem Sleep
คือวงจรที่กล้ามเนื้อต่าง ๆ หยุดทำงานหมดยกเว้น หัวใจ กระบังลม กล้ามเนื้อตาและกล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งเป็นช่วงที่ฝันเป็นเรื่องเป็นราว โดยการนอนแบบนี้จะเกิดขึ้นในช่วงหลังของการนอนเป็นเหตุให้ฝันบ่อย ๆ ในช่วงเช้ามืด






โดยการนอนที่ดีนั้นจะต้องมีทั้ง 2 ช่วง สลับกันไปในแต่ละคืน นอกจากนี้เรามักจะได้ยินคำถามที่ว่า ต้องนอนมากแค่ไหนถึงจะเรียกว่า “นอนอย่างเต็มที่” ซึ่งจริง ๆ แล้ว ส่วนของเวลาการนอนนั้นไม่มีคำตอบเป็นข้อมูลที่ชัดเจน สิ่งที่หลายคนรู้มาจากตามเว็บไซต์หรือจากแหล่งอื่น ๆ คือ ค่าเฉลี่ย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 6-8 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้บางคนอาจนอนเพียงแค่ 5 ชั่วโมง ในขณะที่บางคนอาจใช้เวลานอนถึง 10 ชั่วโมง จึงจะรู้สึกสดชื่น สิ่งที่เป็นตัววัดว่าเรานอนอย่างเต็มที่หรือไม่นั้นคือการที่เราตื่นมาแล้วรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่



นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายคนที่มักจะมีปัญหาการนอนไม่หลับหรือมีอาการสะดุ้งตื่นกลางดึก ซึ่งอาจเกิดจากการเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคซึมเศร้า หรืออาจมีการใช้แอลกอฮอล์ สารเสพติดบางชนิด ส่งผลให้การนอนไม่ราบเรียบอย่างที่ควร

อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้แต่ต้องตรวจสอบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เช่น คนไข้บางรายนอนกรนมากผิดปกติ ส่งผลให้นอนไม่หลับ ต้องรักษาโดยการใส่เครื่องช่วยหายใจระหว่างการนอนเพื่อให้นอนหลับได้สนิทมากขึ้น หรือหากเกิดจากการใช้ยาหรือแอลกอฮอล์ก็ควรจะเลิกใช้ นอกจากนี้ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การจัดตารางการนอนให้เหมาะสม และงดดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนก็เป็นอีกวิธีที่จะทำให้นอนหลับสนิทมากยิ่งขึ้น


อ.พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์


ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล