ชาวสวนบุกรัฐสภา ร้อง กมธ.ช่วยเหลือราคามะม่วงตกต่ำ
เมื่อวันที่ 28 เม.ย.65 ที่รัฐสภา นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะ กมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม คนที่หนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ รับยื่นหนังสือจาก นายดำรงค์ ไกรสิทธิ์ ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง จ.พิษณุโลกและ จ.พิจิตร เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาเกษตรกรชาวสวนมะม่วงเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจภายในประเทศ ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยปัจจุบันราคามะม่วงตกต่ำมากที่สุด ซึ่งก่อนการแพร่ระบาดมะม่วงดิบ กิโลกรัมละ 8 - 20 บาทปัจจุบันกิโลกรัมละ 0.50 - 3 บาท มะม่วงสุก อาทิ น้ำดอกไม้สีทอง เบอร์ 4 ก่อนการแพร่ระบาดกิโลกรัมละ 20 - 40 บาท ปัจจุบันกิโลกรัมละ 6 - 11 บาท ตามเกรด ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนมะม่วงได้รับผลกระทบจากวิกฤตมา 3 ระลอก และรัฐบาลยังไม่มีการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนมะม่วงเลย จนเกษตรกรบางรายต้องตัดต้นมะม่วงเพื่อขายไปทำฟืนและนำเงินมาใช้หนี้สิน จึงขอให้ กมธ. พิจารณาหาแนวทางในการช่วยเหลือ ดังนี้ 1. มาตรการช่วยเหลือระยะสั้น โดยขอให้รัฐบาลจ่ายเงินเพื่อเยียวยาชาวสวนมะม่วงไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 25 ไร่ และขอให้ควบคุมผลิตภัณฑ์เคมีทางการเกษตรและปุ๋ยต่าง ๆ ให้มีราคาที่ถูกลง 2. มาตรการช่วยเหลือระยะยาว โดยขอให้รัฐบาลส่งเสริมตลาดส่งออกจากร้อยละ 15 ให้ถึงร้อยละ 50 เพื่อขยายโอกาสของเกษตรกร และขอให้บรรจุมะม่วงไว้ในบัญชีพืชเศรษฐกิจ เนื่องจากมะม่วงเป็นผลไม้ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรจำนวนมาก และประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกมะม่วงมากที่สุดในโลก
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า การประชุมคณะ กมธ. ในวันนี้ ได้พิจารณาเรื่องของการแก้ไขปัญหาราคาลำไยและมะม่วงตกต่ำ ซึ่งเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกลำไยทั้งสิ้นประมาณ 1.7 ล้านไร่ และปลูกมะม่วงประมาณ 1.9 ล้านไร่ ซึ่งกมธ. ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมในวันนี้ โดยเห็นว่ากระทรวงมหาดไทยจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องการกระจายมะม่วงและลำไย รวมทั้งนำมะม่วงและลำไยออกจากพื้นที่ อีกทั้งต้องการให้มีการทบทวนในเรื่องของเงินชดเชยเยียวยาและให้เงินดังกล่าวถึงมือเกษตรกรได้โดยตรง
นายรังสรรค์ มณีรัตน์ โฆษกคณะ กมธ. กล่าวว่า กมธ. ได้มีมติให้ทำหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การชดเชยเยียวยาพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกลำไยไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 25 ไร่ ซึ่งเป็นผลมาจากลำไยตกต่ำเมื่อปี 2564 และสอบถามถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคาลำไยตกต่ำในฤดูกาลด้วย