กรมการแพทย์แนะ "โรคลมชัก" ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ชี้การปฐมพยาบาลผู้ป่วยผิดวิธีอาจทำให้อาการแย่ลงหรือทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สาเหตุโรคลมชักเป็นโรคทางสมองที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของสมองตั้งแต่โดยกำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง มีผลให้ส่งกระแสไฟฟ้าผิดปกติ แล้วแสดงออกเป็นอาการชัก ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เนื่องจากสร้างผลกระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งปัญหาสุขภาพในฐานะของโรคและความเจ็บป่วย ยากลำบากต่อการเข้ารับการศึกษา การประกอบอาชีพ การวางแผนครอบครัว ตลอดจนคุณภาพชีวิต ซึ่งกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อาการแสดงของโรคลมชักมีความหลากหลาย เช่น ชักเกร็ง กระตุก ชักแบบเหม่อนิ่ง เคี้ยวปาก หรือบางครั้ง เคลื่อนไหวแขนขาไปมาในท่าเดิมซ้ำๆ อาการชักเกิดขึ้นและหายเองในระยะเวลาอันสั้น โดยส่วนมากประมาณไม่เกิน 2 นาที บางครั้งสังเกตได้ยากทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่รู้ตัว หรือบางครั้งมีอาการชักแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่แปลก ทำให้ถูกมองว่าป่วยด้วยโรคทางจิตเวช หรือมองเป็นเรื่องไสยศาสตร์ ผีเข้า เป็นเหตุให้ไม่ได้รับการรักษาตามมาตรฐาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโรคนี้สามารถรักษาหายได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยปราศจากอาการชัก ในกรณีผู้ป่วยที่ ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยากันชัก ปัจจุบันก็ยังสามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัดสมอง ซึ่งจะมีขั้นตอนการประเมินผ่าตัดในผู้ป่วยแต่ละรายไป โดยสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชักแบบครบวงจรมีเครื่องมือที่ทันสมัยและมีความพร้อมในการประเมินการผ่าตัด และรับส่งต่อผู้ป่วยจากทั่วประเทศ
ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่มีอาการชัก บางครั้ง มีอาการเกร็งกระตุกรุนแรง บางครั้งหลังชักมีอาการสับสนวุ่นวาย การช่วยเหลือระหว่างที่ชักและหลังชักแล้ว จึงควรช่วยเหลือดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก เนื่องจากขณะมีอาการชัก ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว และไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ผู้ดูแลจึงควรป้องกันอันตรายโดยรอบที่อาจเกิดขึ้น เช่น อย่าให้ตกน้ำ อย่าให้เดินไปเดินมาในพื้นที่อันตราย อย่าให้สัตว์ร้าย ทำอันตราย อย่าให้ประสบอุบัติเหตุ จนกว่าจะรู้ตัวรู้เรื่องเป็นปกติ เท่านี้คือการ ดูแลให้ปลอดภัย แต่หลาย ๆ เหตุการณ์ยังเป็นความเชื่อที่ผิด และอันตรายต่อสุภาพของผู้ป่วย เช่น กดท้องแรง ๆ การหาอะไรใส่ปาก การพยายามจับยึด การจับกดแขน กดขา การพยายามจะทำให้ผู้ป่วยอยู่นิ่ง ๆ อันนี้อันตราย ทั้งต่อตัวผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือได้ การดูแลที่ดี คือ ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ถ้าหากผู้ป่วยชักนาน 5 นาทีขึ้นไป หรือได้รับบาดเจ็บขณะชัก ควรรีบนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทรสายด่วนฉุกเฉิน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือที่เหมาะสม