"สมชาย"ยัน กมธ.เดินหน้าติดตามคดี "แตงโม"

2022-04-12 13:31:42

"สมชาย"ยัน กมธ.เดินหน้าติดตามคดี "แตงโม"

Advertisement

"สมชาย"ยัน กมธ.เดินหน้าติดตามคดี "แตงโม"  เน้นเป็นธรรม ไม่บิดเบือน

เมื่อวันที่ 12 เม.ย.65  นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวถึงมติของที่ประชุม กมธ. เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า จะติดตามและสอบหาข้อเท็จจริงต่อการทำคดีของ  "แตงโม"ภัทรธิดา (นิดา)  พัชรวีระพงษ์ นักแสดงสาวชื่อดังที่เสียชีวิตจากการพลัดตกเรือสปีดโบ๊ทกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ตามกรอบของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ก้าวก่าย หรือแทรกแซงการทำคดีของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตามข้อบังคับวุฒิสภา กมธ.สามารถทำได้ โดยในเบื้องต้น กมธ.จะติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นอย่างไร สำนวนของคดี การส่งเรื่องไปอัยการ รวมถึงความเป็นธรรม การอำนวยความยุติธรรมที่ไม่บิดเบือน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ส่วนกรณีที่กลุ่มประชาชนคนไทยยื่นเรื่องให้ กมธ. ต่อคดีของน.ส.นิดา นั้น กมธ.มีมติส่งต่อเรื่องไปยัง ตำรวจเจ้าของคดีและอัยการนนทบุรี เพื่อให้ตรวจสอบว่าก่อนสรุปสำนวนได้ดำเนินการอย่างรัดกุม รอบคอบ ไม่ตกหล่นหรือไม่ ทั้งนี้ไม่ใช่ข้อสั่งการของ กมธ. ที่มีผลบังคับให้ทำ แต่เป็นเพียงข้อสังเกตเพื่อให้การทำงานรอบคอบ

นายสมชาย กล่าวต่อว่า จากการติดตามเรื่องดังกล่าว ทำให้ กมธ.ตรวจสอบพบว่างานด้านปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด นอกจากต้องตราร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ แล้ว ต้องมีร่างกฎหมายสำคัญอีก1 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา และจากการตรวจสอบพบว่า ถูกยกร่างและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามหมายเลข 1788/2561 เมื่อปี 2561 แต่ปัจจุบันไม่ทราบว่าเรื่องค้างอยู่ที่ส่วนราชการใด ร่างพ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา มีความสำคัญเพราะตามเหตุผล คือ ให้การสอบสวนคดีอาญามีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการที่เหมาะสม โดยมีหลักเกณฑ์คือ เป็นนคดีสำคัญ มีโทษ 10 ปีขึ้นไปหรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอัยการพิจารณาตามประกาศกำหนด หากร่างกฎหมายดังกล่าวามีผลจะทำให้อัยการมีส่วนร่วมการทำคดีตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อประชาชนมีความเชื่อมั่นใจกระบวนการยุติธรรม และหากคดีของแตงโมมีกระบวนการดังกล่าวจะไม่มีปัญหา โดยกมธ. ได้มอบหมายให้อนุกมธ.ติดตามเรื่องดังกล่าว และเมื่อสภาเปิดสมัยประชุมเดือนพ.ค.นี้ รัฐบาลควรส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมีความชัดเจน