"หมอนิธิพัฒน์"ชี้จุดสูงสุดโควิดระลอกนี้ยังหาทางลงไม่เจอ

2022-04-11 14:39:08

"หมอนิธิพัฒน์"ชี้จุดสูงสุดโควิดระลอกนี้ยังหาทางลงไม่เจอ

Advertisement

"หมอนิธิพัฒน์"ชี้จุดสูงสุดแบบลากยาวของโควิดระลอกนี้ยังหาทางลงไม่เจอ 

เมื่อวันที่ 11 เม.ย.65 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเพจ  นิธิพัฒน์ เจียรกุล  ระบุว่า  จุดสูงสุดแบบลากยาวของระลอกนี้ยังหาทางลงไม่เจอ ตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรงและผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจยังไต่ขึ้นต่อ เป็นผลสะสมจากผู้ป่วยที่ทยอยเพิ่มมาเมื่อสองสัปดาห์ก่อน นั่นหมายถึงการเสียชีวิตเกินร้อยยังจะคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่อย่างน้อยก็ยังพอใจชื้นว่า ก่อนสงกรานต์ยอดรวมผู้ติดเชื้อและผู้เข้าข่ายของรายงานทางการ ยังไม่แตะหลักแสนตามโพลล์หลายสำนัก ส่วนสำนักโลกสวยแห่งนี้เชื่อว่าผู้ติดเชื้อจริงแตะหลักแสนมากว่าเดือนแล้ว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่นอกจากการฉีดวัคซีน เพื่อเข้าสู่หมุดหมายโรคประจำถิ่นดังหวัง แต่ต้องพยายามคุมตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักอย่าให้ขึ้นไปถึง 2,500 ราย เพราะจะรบกวนศักยภาพของโรงพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่โควิด

เมื่อวันก่อนลืมกล่าวถึงเรื่องที่ศบค.แถลงว่า กำลังพิจารณาขอเปลี่ยนสัญญาซื้อวัคซีนโควิดจากบริษัทแอสตร้าในปีนี้ เป็นยา tixagevimab/cilgavimab ทดแทน เนื่องจากมีการปรับแผนความต้องการวัคซีนลดลงจากเดิม ยานี้ผลิตขึ้นโดยบริษัทแอสตร้าเช่นกัน เป็นภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี้) สังเคราะห์ สำหรับให้กับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติมาก จนการฉีดวัคซีนโควิดจะกระตุ้นภูมิได้ไม่เพียงพอ หรือสำหรับคนที่แพ้วัคซีนโควิดอย่างรุนแรง โดยฉีดเข้ากล้ามครั้งเดียวออกฤทธิ์ได้นานอย่างน้อย 6 เดือน

ยานี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้เป็นกรณีฉุกเฉินเมื่อต้นปีนี้ โดยคณะกรรมการอาหารและยาแห่งอเมริกา (US FDA) พิจารณาจากข้อมูลที่บริษัทผู้ผลิตเสนอมา ในการทดลองให้ยานี้กับอาสาสมัครที่เป็นกลุ่ม 608 รวมผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ จำนวน 5,172 คน เมื่อติดตามหลังจากฉีดไปแล้วนาน 6 เดือนกว่า พบว่าสามารถลดโอกาสการติดเชื้อหรือป่วยจากโรคโควิด-19 ลงได้ราว 80% ผลไม่พึงประสงค์ที่อาจเกี่ยวข้องกับยาคือภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจ แต่การทดลองนั้นทำในช่วงก่อนโอไมครอนระบาด จึงยังมีข้อสงสัยว่าปัจจุบันยานี้จะยังใช้ได้ผลหรือไม่

มีผู้ทำการศึกษายานี้กับเชื้อไวรัสโอไมครอนในห้องทดลอง พบว่าความสามารถในการยับยั้งเชื้อลดลงจากเดิมราว 12 เท่า https://www.ncbi.nlm.nih.gov/.../41591_2021_Article_1678.p  เช่นเดียวกับผลการศึกษาโดยนักวิจัยอีกชุดหนึ่ง ที่พบว่าประสิทธิผลลดลงได้ 25-140 เท่า https://www.ncbi.nlm.nih.gov/.../PMC.../pdf/NEJMc2119407.pdf

ต่อมามีคณะนักวิจัยจากกลุ่มประเทศในยุโรป ทำการศึกษาผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติและได้รับยานี้จำนวน 29 คน พบว่าระดับภูมิคุ้มกันต่อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 ลดลงกว่าเมื่อเทียบกับภูมิต่อเดลต้า ถึง 344 เท่า และ 9 เท่าตามลำดับ มีผู้ป่วย 4 ใน 29 รายเกิดการติดเชื้อที่น่าจะเป็นจากสายพันธุ์ย่อย BA.1 ทั้งหมด s41591-022-01792-5_reference.pdf (nature.com)

ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะฉีดยานี้ในขนาดเพิ่มเป็นสองเท่าเพื่อใช้รับมือกับโอไมครอน ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นถ้าเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่ครองตลาดอยู่ในขณะนี้ จึงต้องรอผลการใช้จริงในเวชปฏิบัติ (real world practice) ให้มากกว่านี้มาสนับสนุน

แม้ว่าดูเหมือนยานี้จะได้ผลดี แต่คงต้องประเมินให้รอบคอบรอบด้านถึงความคุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่าย ในภาวะที่ประเทศชาติเงินในกระเป๋ายอบแยบเต็มที เชื่อว่าบริษัทแอสตร้าน่าจะเห็นใจประเทศไทยที่เป็นมิตรคู่ค้าที่ดีกันมาหลายสิบปี ด้วยการหาทางออกที่ดีสำหรับแผนการแลกยานี้กับวัคซีน หรือไม่ก็หาอย่างอื่นมาทดแทนอย่างเหมาะสมในฐานะกัลยาณมิตร#อยู่ร่วมกับโควิด


ขอบคุณเพจ นิธิพัฒน์ เจียรกุล