"พยาธิปอดหนู" คืออะไร ทำให้ตาบอดได้จริงหรือ?
จากที่มีข่าวผู้ป่วยในไทยมีพยาธิชื่อแปลก คือพยาธิปอดหนูมาเดินอยู่ในตาคน ทำให้ตามัวมองเห็นไม่ชัด สร้างความตระหนกตกใจกับหลาย ๆ คน กังวลว่าจะเกิดขึ้นกับตนเองและคนในครอบครัว ควรต้องระมัดระวังอย่างไร ตกลงพยาธินี้อยู่ในหนู หรืออยู่ในคนกันแน่ เราจะมาไขข้อสงสัยกันค่ะ
พยาธิปอดหนู คืออะไร
พยาธิปอดหนู หรือ แอนจิโอสตรองจิลัส แคนโทเนนสิส (Angiostrongylus cantonensis) เป็นพยาธิตัวกลมที่อาจทำให้เกิดโรคทางระบบประสาท โดยทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดที่มีเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลสูง (Eosinophilic meningitis) และพบมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเกาะเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิก
โดยทั่วไปพยาธิจะอยู่ในหนู ทากหรือหอยโข่ง แต่บางครั้งพบในกุ้ง ปูนา กบ และตัวเงินตัวทองได้ด้วย หากมนุษย์กินของเหล่านี้ที่ดิบหรือไม่สุกพออาจทำให้มีอาการผิดปกติได้ ในบางกรณีอาจเกิดจากการกินผักสดที่มีการเจือปนโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถทำให้พยาธินี้ครบวงจรได้ เพราะพยาธินี้ไม่เหมาะกับการอยู่ในมนุษย์นาน ๆ และไม่สามารถสืบพันธุ์ในร่างกายมนุษย์ได้ ดังนั้นมนุษย์จึงเป็นผู้ถูกอาศัยโดยบังเอิญ (accidental host) ทำให้โรคนี้ไม่แพร่จากคนสู่คน แต่อาจติดกันเป็นกลุ่มก้อนได้ถ้ากินอาหารที่ปนเปื้อนร่วมกันหรือมาจากแหล่งเดียวกัน
เราจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้
การวินิจฉัย คือ ประวัติที่เข้าได้ เช่น การกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือผักสด ในช่วงที่เป็นระยะฟักตัว คือ ตั้งแต่ 1 วันถึงเดือนครึ่ง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตามัว คอแข็ง ปวดศีรษะทั่ว ๆ อย่างรุนแรง หรือรู้สึกชาตามแขนขา น้อยรายที่มีปวดกระบอกตา รู้สึกมีเหมือนพยาธิเดินในตาส่วนหน้า ซึ่งอาการเหล่านี้อาจพบตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน เจาะเลือดหรือน้ำไขสันหลังมักพบเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลล์สูง มากกว่าร้อยละ 5 และร้อยละ 10 ตามลำดับ บางครั้งอาจเห็นพยาธิในน้ำไขสันหลัง การเจาะน้ำไขสันหลังจะพบว่าความดันเปิดมักจะสูง การถ่ายภาพรังสีคอมพิวเตอร์ของสมองสามารถช่วยแยกโรคจากพยาธิตัวจี้ด (Gnathostomiasis) และก้อนในสมองได้
โรคนี้วินิจฉัยได้ค่อนข้างยาก และไม่สามารถใช้การตรวจอุจจาระหาพยาธิได้ เพราะไข่ไม่ได้ผ่านไปในทางเดินอาหาร ซึ่งพบบ่อยในพยาธิตัวกลมชนิดอื่น ๆ
รักษาได้อย่างไร
การรักษาหลัก คือ การบรรเทาอาการปวด ลดการคลื่นไส้อาเจียน และการให้ยาเสตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ การเจาะน้ำไขสันหลังเพื่อระบายเป็นระยะทำให้ลดอาการปวดศีรษะได้ ยังไม่มียาฆ่าพยาธิตัวใดที่พิสูจน์ได้ว่ารักษาโรคนี้ได้ และยังอาจส่งผลเสียที่สมองด้านเพิ่มการอักเสบจากพยาธิที่ตายได้ แม้ว่าในบางงานวิจัยมีการใช้ยาอัลเบนดาโซล (albendazole) และมีเบนดาโซล (mebendazole) ร่วมกับยาเสตรียรอยด์แต่เป็นการศึกษาขนาดเล็กและไม่มีคู่เทียบชัดเจนจึงยังไม่ได้นำมาใช้อย่างกว้างขวาง
อาการรุนแรงหรือไม่จะตาบอดทุกรายไหม
อาการมักไม่รุนแรงมาก แต่ไม่ได้พบที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทตาบ่อย ๆ สิ่งที่ดีคืออาการต่าง ๆ สามารถหายเองได้จากเหตุผลว่าพยาธินี้ไม่สามารถอยู่ในมนุษย์ได้นาน และมีเพียงน้อยรายที่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง คือการทำงานของระบบประสาทผิดปกติ ตามัว ตาบอดหรืออาจเสียชีวิตได้
เราจะป้องกันตนเองและควบคุมโรคนี้ในประเทศไทยเราได้อย่างไร
การให้ความรู้และรณรงค์ให้ไม่ทรานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะทาก หอยโข่ง กุ้ง ปูนา กบ ตัวเงินตัวทอง และผักหรือน้ำผักที่อาจปนเปื้อนได้
ก่อนทานผักควรล้างให้สะอาดหลายน้ำ และเลือกน้ำล้างผักที่สะอาด หากไม่แน่ใจว่าน้ำสะอาดหรือไม่ ควรหลีกเลี่ยงการกินผักสด ให้นำไปผัด หุง ต้ม หรือนึ่งให้สุกเสียก่อน
นอกจากนี้การล้างมือ ช้อนส้อม และอุปกรณ์ประกอบอาหารให้สะอาด ลวกน้ำร้อนทำให้สิ่งปนเปื้อนลดลงได้
สุดท้ายก็ขอให้ทุกคนปลอดภัยจากโรคที่เกิดจากพยาธิปอดหนู และพยาธิชนิดต่าง ๆ ด้วยวิธีการง่าย ๆ ในการเพิ่มสุขอนามัยส่วนบุคคลและระมัดระวังในการกินอาหาร หากไม่แน่ใจว่าตนเองมีอาการผิดปกติที่อาจเกิดจากพยาธิหรือไม่ ให้มาพบบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงทีค่ะ
อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล