จุฬาฯวิจัย "จุลชีพในลำไส้ผู้สูงวัย" ตัวชี้วัดสุขภาพ ระบุถ้ามีจุลชีพที่ดีปริมาณมากในลำไส้ ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคที่ดีด้วย
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ บุกเบิกงานวิจัยแรกของประเทศ ศึกษา "ระบบชีวนิเวศจุลชีพของผู้สูงวัย" รวบรวมข้อมูลพื้นฐานระดับชาติ ไขความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาวะของผู้สูงอายุกับจุลชีพในลำไส้ ทำนายความเสี่ยงการเกิดโรค และความแข็งแรงของประชากร
การวิจัยทางการแพทย์สมัยใหม่ระบุว่าสมดุลของจุลินทรีย์ดีที่มีชีวิตในร่างกายมีผลต่อสุขภาพและการเกิดโรค ในหลายประเทศที่เข้าสุ่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ จึงเริ่มมีการวิจัยชีวนิเวศจุลชีพในลำไส้และภาวะเหนือพันธุศาสตร์ในผู้สูงอายุ เพื่อกำหนดหาแนวทางดูแลให้ผู้สูงอายุสุขภาพดี อายุยืนยาว ไม่เป็นภาระด้านสาธารณสุข และเป็นกำลังสำคัญของสังคม แต่ประเทศไทยยังไม่เคยมีข้อมูลและการศึกษาในประเด็นดังกล่าว คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงริเริ่มดำเนินโครงการวิจัย "ระบบชีวนิเวศจุลชีพของผู้สูงวัย" ขึ้น
ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ เสรีมาศพันธุ์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางนาโนชีวเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในคณะผู้วิจัย "ระบบชีวนิเวศจุลชีพของผู้สูงวัย" เผยว่า โครงการวิจัยนี้นับเป็นครั้งแรกที่ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังในประเทศไทย และเป็นการตรวจวินิจฉัยสุขภาพคนไทยครั้งใหญ่ผ่านกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นอาสาสมัคร ที่จะทำให้เราได้ข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีระบบนิเวศจุลชีพเหมือนหรือต่างกันอย่างไรในแต่ละภูมิภาค เพื่อนำไปใช้ต่อยอดในการศึกษาทางด้านสุขภาวะของผู้สูงอายุสุขภาพดี รวมทั้งเรื่องการควบคุมการแสดงออกของยีน นอกจากนี้ เรายังหวังว่าจะได้ตัวชี้วัดระดับโมเลกุลที่เป็นตัวช่วยในการตรวจหรือทำนายความเสี่ยงของการก่อโรค และความแข็งแรงของประชากรไทยต่อไปด้วย
การศึกษาวิจัย "ระบบชีวนิเวศจุลชีพของผู้สูงวัย" ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมีผู้ร่วมวิจัย คือ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ อดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ รศ.ดร.พญ.กนิษฐา ภัทรกุล หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
จุลชีพในลำไส้กับสุขภาพ
ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ อธิบายว่าจุลชีพเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก อาทิ แบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส ที่อยู่ในธรรมชาติ ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และร่างกายของมนุษย์ จุลชีพมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี จุลินทรีย์ที่ดีมีส่วนช่วยให้มนุษย์มีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว เพราะจุลชีพทำให้การทำงานของร่างกายเป็นปกติ สร้างสารควบคุมการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ช่วยควบคุมปริมาณและความหลากหลายของแบคทีเรียที่มีอยู่ในร่างกาย สร้างสารเคมีบางอย่างที่ช่วยในการตอบสนองภูมิคุ้มกันได้ ช่วยให้ระบบประสาทและต่อมไร้ท่อที่สร้างฮอร์โมนในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น
"ถ้ามีจุลชีพที่ดีปริมาณมากในลำไส้ ร่างกายก็จะแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรคที่ดีขึ้นด้วย เมื่อได้รับเชื้อที่ก่อโรคเข้าไปในร่างกาย จุลชีพเชื้อดีก็จะช่วยขับเชื้อที่ไม่ดีออกมาได้ โอกาสของการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคก็จะน้อย แต่ถ้าจุลชีพดีในร่างกายมีน้อยหรือเป็นจุลชีพไม่ดี ร่างกายก็จะไม่มีตัวต้านทานเชื้อโรค ทำให้มีโอกาสป่วยเป็นโรคได้ง่าย ป่วยหนัก และป่วยนาน"
ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ อธิบายเพิ่มเติมว่าจุลชีพในลำไส้จะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุและช่วงวัย คนในวัยหนุ่มสาวหรือวัยผู้ใหญ่ที่แข็งแรงจะมีเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ที่เป็นตัวดีจำนวนมาก แต่เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็จะมีเชื้อจุลชีพดีที่ช่วยป้องกันการก่อโรคในปริมาณน้อยลง ซึ่งหมายถึงโอกาสในการเกิดโรคก็มากขึ้น
การศึกษาวิจัยชีวนิเวศจุลชีพในผู้สูงวัย
ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ กล่าวว่างานวิจัย “ระบบชีวนิเวศจุลชีพของผู้สูงวัย” จะศึกษาระบบนิเวศจุลชีพที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุใน 2 ลักษณะ ประการแรกเป็นการศึกษานิเวศจุลชีพที่อยู่ในลำไส้ของผู้สูงอายุ ที่เป็นผู้สูงวัยที่สุขภาพดีว่าต่างจากผู้สูงวัยที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases) หรือไม่ เพื่อดูว่าถ้าผู้สูงวัยมีจุลชีพที่ดีจะทำให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาวะดีอย่างไร ในทางกลับกัน ถ้าระบบจุลชีพในลำไส้ไม่ดี จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ผู้สูงอายุเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น หรือไม่ ประการที่ 2 งานวิจัยจะศึกษาปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลต่อระบบชีวนิเวศของจุลชีพในลำไล้ของผู้สูงอายุ อาทิ ภูมิลำเนา ภูมิอากาศ รวมถึงอาหารการกินของผู้สูงวัยที่อาศัยตามภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคเหนือ กลาง ใต้ และอีสาน โดยเน้นอาหารพื้นถิ่น ไม่ใช้อาหารเสริมและอาหารที่มีเชื้อจุลชีพที่ดี (โพรไบโอติก)
ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ อธิบายความสำคัญของอาหารกับปริมาณจุลชีพในลำไส้ว่า “จุลชีพในลำไส้ได้มาจากอาหารที่มี “โพรไบโอติก” ซึ่งเป็นจุลชีพดีที่มีชีวิต พบได้ในอาหาร เช่น กิมจิ ถั่วหมัก ข้าวหมาก ผักกาดดอง นมเปรี้ยว โยเกิร์ต นอกจากนี้ ก็มี “พรีไบโอติก” เส้นใยธรรมชาติในพืชที่จะช่วยให้จุลชีพที่ดีในลำไส้เจริญเติบโตได้ และทำลายจุลชีพที่ไม่ดี เราต้องการดูว่าปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เหล่านี้มีผลต่อจุลชีพในลำไส้ต่างกันหรือไม่ หรือมีผลต่อภาวะเหนือพันธุกรรม (epigenetics) ที่ควบคุมการแสดงออกของยีนของมนุษย์เพิ่มเติมด้วยในงานวิจัยนี้
งานวิจัยระดับชาติ ระดมอาสาสมัครสูงวัยทั่วภูมิภาค
ระบบชีวนิเวศจุลชีพของผู้สูงวัย” เป็นโครงการวิจัยต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ ปี2564 - 2566 โดย ผศ.ดร.นพ.อมรพันธ์ เผยว่าปัจจุบัน การศึกษาอยู่ในขั้นตอนยื่นขอการพิจารณาทางจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และเมื่อผ่านขั้นตอนนี้ก็จะลงพื้นที่เพื่อหาผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป สุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่มีภาระพึ่งพา และเป็นผู้สูงวัยอาสาสมัครจาก 4 ภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ทำการศึกษาที่จังหวัดเชียงราย ภาคกลาง ที่กรุงเทพฯ ภาคใต้ ที่จังหวัดภูเก็ต ส่วนภาคอีสานอยู่ในระหว่างการเลือกพื้นที่
"เมื่อได้กลุ่มตัวอย่างเรียบร้อยแล้ว ทีมวิจัยจะลงพื้นที่ไปให้ความรู้ ตลอดจนตรวจสุขภาพกายและใจของผู้สูงอายุแบบครบวงจร ทั้งตรวจเลือด เอ็กซเรย์ ตรวจ DNA ตรวจจุลชีพจากอุจจาระเพื่อหาปัจจัยที่ผลต่อสุขภาวะในผู้สูงอายุ เราคาดว่าการเก็บตัวอย่างและการตรวจในเฟสแรกจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ จากนั้นก็จะเป็นการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ได้เพื่อดำเนินการวิจัยต่อในเฟสที่สอง เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวกับการควบคุมการแสดงออกของยีน รวมทั้งระบบนิเวศจุลชีพในลำไส้ของผู้สูงอายุ"
ผศ.ดร.นพ.อมรพันธ์ กล่าวเสริมว่างานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยระดับชาติ และได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงมหาดไทยช่วยคัดเลือกผู้สูงอายุในแต่ละภูมิภาคเพื่อเข้ามาเป็นอาสาสมัครในโครงการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติช่วยตรวจพันธุกรรมของผู้สูงอายุ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ช่วยวิเคราะห์จุลชีพที่อยู่ในลำไส้ของมนุษย์ นอกจากนี้ยังร่วมมือในการทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์อีกด้วย
งานวิจัยตอบโจทย์สุขภาพสังคมสูงวัย
งานวิจัย "ระบบชีวนิเวศจุลชีพของผู้สูงวัย" นับเป็นการตรวจวินิจฉัยสุขภาพคนไทยครั้งใหญ่ผ่านกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นอาสาสมัคร ซึ่ง ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ คาดว่าจะทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เมื่องานวิจัยสำเร็จ เราจะได้ข้อมูลที่เป็นตัวแทนของผู้สูงอายุไทยสุขภาพดี สามารถนำข้อมูลไปเทียบเคียงกับข้อมูลผู้สูงอายุในเอเชีย เพื่อดูว่าผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียมีสุขภาวะซึ่งวัดจากจุลชีพที่ดีในลำไส้ การควบคุมการแสดงออกของยีนส์เป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยพยากรณ์เรื่องความแข็งแรง หรือโอกาสของความเสี่ยงการเกิดโรคในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ เราหวังว่าจะได้แนวทางการนำแบคทีเรียที่ดีไปเพาะเชื้อและคัดแยกออกมาเป็นโพรไบโอติกสายพันธุ์เฉพาะของคนไทย ที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพผู้สูงวัยให้แข็งแรงและอายุยืนยาว