อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการหลับ

2022-03-15 01:05:22

อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการหลับ

Advertisement

อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการหลับ 

การนอนหลับพักผ่อนมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในช่วงที่เราหลับ สมองบางส่วนของเรายังทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เช่น การเจริญเติบโตของร่างกาย การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ การพัฒนาของระบบภูมิคุ้มกัน การเรียนรู้หรือจดจำสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า หากกระตุ้นให้หนูทดลองตื่นตัวตลอดเวลาไม่ให้นอนหลับ การใช้พลังงานในร่างกายจะสูงขึ้น น้ำหนักจะลดลงเรื่อย ๆ แม้การกินอาหารจะปกติ ภูมิคุ้มกันจะบกพร่อง และเสียชีวิตในเวลา 2-3 สัปดาห์

เราไม่สามารถทำการศึกษาลักษณะเดียวกันได้ในมนุษย์ แต่จากการศึกษาชนิดที่สังเกตการณ์เกี่ยวกับปริมาณการนอนในมนุษย์ พบว่า การนอนหลับที่น้อยกว่าปริมาณที่แนะนำในแต่ละวัน (7-8 ชั่วโมงต่อวัน) พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เพิ่มขึ้นหลายชนิด ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ เป็นต้น ที่สำคัญพบว่าผู้ที่นอนหลับน้อยกว่า 7 ชั่วโมง หรือมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน มีอัตราตายสูงกว่า อายุไขเฉลี่ยสั้นกว่าผู้ที่นอนหลับ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน โดยมีอัตราส่วนแปรผันตรงตามปริมาณเวลาที่น้อยหรือมากกว่าค่าปกติ ผู้ที่นอนมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน จากสถิติพบเป็นส่วนน้อยและอัตราตายที่สูงขึ้นพบในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งคาดว่ามีความสัมพันธ์กับโรคหรือภาวะสุขภาพเรื้อรัง ในขณะที่กลุ่มที่นอนน้อยกว่าปกติ คาดว่าอัตราตายที่สูงขึ้นเกิดจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ดังที่กล่าวข้างต้น รวมถึงภาวะการอักเสบเรื้อรังในร่างกาย และอัตราการเกิดโรคมะเร็ง ที่พบสูงขึ้น

มีการศึกษายืนยันเกี่ยวกับผลของการอดนอนต่อการทำงานของสมองและการตอบสนองของระบบประสาท โดยพบว่าผู้ที่นอนหลับน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน มีการตอบสนองของสมองและระบบประสาทในแง่ของการตื่นตัวระแวดระวัง (psychomotor vigilance) ต่ำกว่าปกติ กลไกดังกล่าวเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุซึ่งนำมาสู่การสูญเสียทรัพย์สิน การบาดเจ็บ หรือการเสียชีวิต ในผู้ที่ขาดการนอนหลับอย่างพอเพียง อุบัติเหตุดังกล่าวพบว่ามีการศึกษารองรับมากที่สุดในกลุ่มของอุบัติเหตุบนท้องถนน การศึกษาชนิด systematic review ในประชากรกว่า 70,000 คนทั่วโลก พบว่า อาการง่วงนอนขณะขับรถหรือยวดยานพาหนะอื่น ๆ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยผู้ที่มีอาการง่วงขณะขับรถ มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าปกติ 2.56 เท่า การศึกษาชนิดสังเกตการณ์ (prospective cohort) ขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกายังพบว่า อาการง่วงนอนขณะขับรถพบเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุสูงถึงร้อยละ 20 ของอุบัติเหตุที่เกิดบนท้องถนนทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การขับรถขณะง่วงนอนนั้นมีอันตรายเทียบเคียงได้กับการดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับรถเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังพบว่า ไม่เพียงแต่การนอนหลับไม่เพียงพอเท่านั้น ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขณะขับขี่ยวดยานพาหนะ โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ซึ่งพบอุบัติการณ์สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก ยังเป็นสาเหตุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยพบเป็นสาเหตุได้ราวร้อยละ 10 ดังนั้น ผู้ที่นอนหลับพักผ่อนเป็นระยะเวลาที่เพียงพอ แต่ยังมีอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอนผิดปกติ นอนกรนเป็นประจำ หายใจผิดปกติขณะหลับ หรือตื่นบ่อย ๆ ไม่ทราบสาเหตุ จึงควรพบแพทย์เพื่อปรึกษา เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

ไม่เพียงแต่อุบัติเหตุบนท้องถนนเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์กับการนอนหลับผิดปกติ อัตราการหกล้มก็พบสัมพันธ์กับการนอนหลับไม่เพียงพอเช่นกัน ในการศึกษาชนิด systematic review ในประชากรแถบเอเชียตะวันออกกว่า 200,000 คน พบว่า ผู้ที่นอนหลับน้อยกว่าปกติ (ตั้งแต่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง จนถึงน้อยกว่า 7 ชั่วโมง) มีอัตราการพลัดหกล้มสูงกว่าปกติราวร้อยละ 32

อุบัติเหตุจากการทำงานก็เช่นเดียวกัน ในการศึกษาโดยการสำรวจประชากรขนาดใหญ่ในแคนาดาพบว่า หญิงที่นอนหลับเป็นเวลาเพียง 5-6 ชั่วโมงต่อวัน เทียบกับผู้ที่นอนหลับ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน พบการเกิดอุบัติเหตุขณะทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหรือเครื่องจักรสูงกว่า ร้อยละ 59 นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับที่ไม่ดีเป็นประจำ เช่น ตื่นนอนไม่สดชื่น นอนไม่หลับ ต้องใช้ยานอนหลับเป็นประจำ มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บจากการทำงานสูงกว่าปกติ ราวร้อยละ 25

การนอนหลับที่เพียงพอมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ การนอนหลับเป็นเวลาน้อยกว่าปกติหรือการมีโรคความผิดปกติขณะหลับที่ไม่ได้รับการรักษา ส่งผลต่อสุขภาพหลายประการ ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพหรือแม้แต่เสียชีวิตได้ หนึ่งในสาเหตุที่สำคัญ คือการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ทั้งอุบัติเหตุขณะขับขี่ยวดยานพาหนะ อุบัติเหตุจากการหกล้ม หรืออุบัติเหตุจากการทำงานหรือใช้เครื่องจักรต่าง ๆ ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญต่อการนอนหลับพักผ่อน โดยนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการขับขี่หรือใช้เครื่องจักรขณะเกิดอาการง่วง พักหลับเมื่อง่วงหรือเปลี่ยนตัวผู้ขับขี่กรณีที่ขับรถทางไกล ปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติหรือสงสัยว่ามีโรคความผิดปกติขณะหลับ ทั้งหมดนี้อาจช่วยให้ตัวท่านปลอดภัยจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เกิดจากการนอนหลับผิดปกติ ลดความเสียหายที่เกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง รวมทั้งบุคคลรอบข้าง

อ.นพ.สมประสงค์ เหลี่ยมสมบัติ

สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคการนอนหลับ ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล