กทม. เร่งแก้ไขปัญหาผู้ป่วยโควิดตกค้างเข้าสู่ระบบรักษา

2022-03-10 12:29:02

กทม. เร่งแก้ไขปัญหาผู้ป่วยโควิดตกค้างเข้าสู่ระบบรักษา

Advertisement

กทม. เร่งแก้ไขปัญหาผู้ป่วยโควิด-19ตกค้างเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานของ EOC เขต ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยมี นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขต และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ผ่านระบบประชุมทางไกล ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

ในที่ประชุม ได้มีการหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ป่วยโควิด-19 ตกค้าง โดยมอบหมายทุกหน่วยงานเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ อาการไม่รุนแรง หรือที่เรียกว่ากลุ่มสีเขียว สามารถเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิ ดังนี้ 1. สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่คลินิกปฐมภูมิหรือโรงพยาบาลในระบบ โดยไม่จำกัดพื้นที่ 2. สิทธิประกันสังคม สามารถรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลที่ตนมีสิทธิอยู่ และ 3. สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ สามารถรับการรักษาในโรงพยาบาลได้ทุกแห่งที่อยู่ในระบบของกรมบัญชีกลาง โดยประชาชนสามารถเข้าถึงช่องทางการรักษาในรูปแบบการรักษาแบบแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) และแบบผู้ป่วยนอก "เจอ แจก จบ" (Outpatient with Self Isolation : OPSI) ด้วยวิธีการ Walk in ไปยังสถานพยาบาล รวมทั้งบริการออนไลน์ผ่านช่องทางของ สปสช.1330 และศูนย์ EOC 50 สำนักงานเขต

กรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 โทรเข้าระบบดูแลรักษาผ่านสายด่วน สปสช. 1330 ไม่ติด หรือเข้าระบบการรักษาแบบ HI แล้ว แต่รอหน่วยบริการติดต่อกลับนาน ในส่วนของศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 69 แห่ง จะได้เร่งดำเนินการโทรสอบถามประเมินอาการผู้ป่วยที่รอการตอบรับอยู่ในระบบ HI Portal และรับผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาพยาบาล (OPSI/HI) ตามความเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยข้ามเขตพื้นที่ เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับบางเขตที่มีจำนวนผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้จัดบุคลากร จำนวน 200 คน เพื่อโทรสอบถามประเมินอาการผู้ป่วยที่ตกค้างในระบบ จำนวนกว่า 7 พันราย และจัดส่งยาให้เบื้องต้น กรณี OPSI รายที่เหลือจะประสานแจ้งหน่วยบริการให้เร่งรับผู้ป่วยเข้ารับการดูแลต่อไป ในส่วนของศูนย์ EOC 50 สำนักงานเขต จะให้การสนับสนุนการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงเครื่องผลิตออกซิเจน จากหน่วยบริการไปยังที่พักอาศัยของผู้ป่วย การรับ-ส่ง เครื่องผลิตออกซิเจน จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขไปยังที่พักอาศัยของผู้ป่วยในกรณีเร่งด่วน รวมทั้งบูรณาการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมดำเนินการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยตกค้างและเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด