อธิบดีกรมอนามัยห่วงหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 เสี่ยงอาการรุนแรง เร่งตาม 2.4 แสนรายฉีดวัคซีน เผยจุดสังเกตอาการเสี่ยง พร้อมแนะท่านอน
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการแถลงข่าวการติดเชื้อโควิด -19 ในหญิงตั้งครรภ์ ว่า ขณะนี้พบการติดเชื้อรายใหม่ในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ค่อนข้างสูง โดยตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6-12 ของปี 2565 พบ 551 ราย ซึ่งสัปดาห์ล่าสุดวันที่ 27 ก.พ.-5 มี.ค. มีการติดเชื้อ 224 ราย ขณะที่ข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64 – 5 มี.ค.65 ติดเชื้อสะสม 7,210 ราย เสียชีวิต 110 ราย คิดเป็น 1.5% ขณะที่ เด็กแรกเกิดคลอด 4,013 ราย ติดเชื้อ 319 ราย คิดเป็น 8% เสียชีวิต 67 ราย คิดเป็น 1.6% ทั้งนี้มีการผ่าคลอดมากขึ้นถึง 53% ทารกน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 2,500 กรัม 15% ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนหญิงตั้งครรภ์ 7,210 รายที่ติดโควิด พบว่า ไม่ได้รับวัคซีน 6,292 รายคิดเป็น 87% ได้รับเข็ม 1 ติดเชื้อ 368 รายคิดเป็น 5% และ ได้รับครบ 2 เข็มติดเชื้อ 550 รายติดเป็น 8% เมื่อวิเคราะห์อัตราเสียชีวิตพบว่าหญิงตั้งครรภ์รับวัคซีน 2 เข็ม มีอัตราลดลงเกือบ 10 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า สถานการณ์วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ ข้อมูลวันที่ 5 มี.ค. ฉีดเข็ม 1 แล้ว 117,385 ราย เข็ม 2 อีก 105,094 ราย และเข็ม 3 อีก 17,361 ราย ทั้งนี้ การติดตามข้อมูลอาการไม่พึ่งประสงค์และผลลัพธ์การคลอดพบว่า มีผู้ที่รับวัคซีนและคลอดแล้ว 2,770 ราย พบว่า 57% ไม่มีอาการข้างเคียงจากวัคซีน ส่วน 43% มีรายงานผลข้างเคียงจากวัคซีน ในจำนวนนี้ 97% มีอาการเช่นเดียวกับคนทั่วไป เช่น ปวด มีไข้ บวมบริเวณฉีด อีก 3% มีรายงานอาการเกี่ยวกับครรภ์ เช่น ปวดท้องน้อย สอบสวนพบว่าเกือบทั้งหมดเป็นการเจ็บครรภ์คลอด อย่างไรก็ตามในจำนวนหญิงตั้งครรภ์นั้นแบ่งเป็นหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ฉีดวัคซีนแล้ว มาตั้งครรภ์ในภายหลัง และอีกกลุ่มที่ตั้งครรภ์แล้วยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งประมาณการณ์ว่าเรายังต้องติดตามหญิงตั้งครรภ์มาฉีดวัคซีนราว 2.4 แสนราย โดยให้แพทย์ที่รับฝากครรภ์เป็นผู้สอบถาม และฉีดให้ ซึ่งยืนยันว่าขณะสามารถฉีดได้ทุกอายุครรภ์ ฉีดได้ทุกชนิดวัคซีน มีความปลอดภัย จากการติดตามการฉีดไม่พบอัตรายต่อการตั้งครรภ์หรือการคลอด
“หญิงตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ จะมีปีญหาเรื่องของการหายใจลำบากอยู่แล้ว เพราะมีเด็กอีกคนอยู่ในท้อง ซึ่งจะไปดันพื้นที่ปอด ทำให้แม่หายใจลำบาก ดังนั้นหากหญิงตั้งครรภ์เกิดการติดเชื้อด้วยจึงยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น เสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่มีอะไรมาเบียดปอด ดังนั้นขอให้หญิงตั้งครรภ์มารับวัคซีน ซึ่งขอให้มั่นใจจาการฉีดวัคซีนกว่าร้อยล้านพันล้านโดสมีความปลอดภัย อาการข้างเคียงเล็กน้อยเหมือนการฉีดวัคซีนทั่วไป” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
ด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเฝ้าระวังอาการในหญิงตั้งครรภ์คล้ายกับอาการในหญิงทั่วไป แต่สิ่งที่ต้องจับตาเพิ่มคือ เจ็บท้องก่อนกำหนด ท้องแข็ง เลือดออกจากช่องคลอด น้ำใสๆ ไหลออกจากช่องคลอด ซึ่งอาจจะหมายถึงอาการน้ำเดิน มีอาการครรภ์เป็นพิษ เช่น ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ เป็นต้น อาการที่จัดเป็นผู้ป่วยสีแดง ต้องรีบแจ้งแพทย์คือ ระบบการหายใจมีปัญหารุนแรงทำให้หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หากเอ็กซเรย์จะพบปอดอักเสบรุนแรง เกิดภาวะปอดบวมจากการเปลี่ยนแปลง ความอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า 96 % หรือมีการลดลง 3% จากค่าที่วัดได้ในตอนแรกก็ถือว่าอันตราย นอกจากนี้ยังมีอาการแน่นหน้าอกตลอดเวลา หายใจเจ็บหน้าอก ตอบสนองช้า ไม่มีสติ หรือไม่รู้สึกตัวให้รีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้มีคำแนะนำให้นอนตะแคงซ้ายเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี พยายามขยับขาป้องกันลิ่มเลือด และดื่มน้ำเยอะๆ แต่ไม่แนะนำให้นอนตะแคงทางด้านขวาเพราะจะไปกดการไหลเวียนของเส้นเลือดใหญ่ และไม่แนะนำให้นอนหงายโดยเฉพาะหญิงที่มีอายุครรภ์มาก ๆ เพราะท้องจะไปยกตัวไปเบียดกระบังลมทำให้หายใจลำบาก
นพ.เอกชัย กล่าวว่า ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด ไม่จำเป็นต้องผ่าคลอด ซึ่งจะใช้เวลาในการเตรียมตัวคลอดนานถึง 4-5 ชั่วโมง ดังนั้นจึงควรคลอดตามธรรมชาติ ยกเว้นมีข้อบ่งชี้ว่าต้องผ่าคลอด เช่น เด็กตัวใหญ่ มีความเครียดสูง เป็นต้น ทั้งนี้กรณีเด็กที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อก็จะมีการตรวจว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หากติดเชื้อ และมีอาหารก็จะให้รักษาตัวในหอผู้ป่วยเด็ก หากไม่มีอาการ ก็สามารถอยู่กับแม่ได้ แม่อุ้มลูกได้โดยตั้งล้างมือทั้งก่อน และหลังการอุ้ม สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ส่วนกรณีแม่ติด ลูกไม่ติด แต่แม่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการก็ยังสามารถอุ้มลูกได้เช่นกันโดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือทั้งก่อน และหลังการอุ้ม งดหอมแก้มทุกกรณี ทั้งนี้ลูกยังสามารถกินนมจากเต้านมได้ แต่ก่อนกินให้มีการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดเต้านมก่อน หรือหากแม่มีอาการมากสามารถปั๊มนมเก็บให้ลูกดื่มได้ เพราะเชื้อโควิด -19 ไม่ได้ส่งผ่านทางน้ำนม
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า ส่วนการให้ยารักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิดนั้นไม่แนะนำให้กินยาฟาวิพิราเวียร์ หรือฟ้าทะลายโจร เพราะมีผลต่อทารกในครรภ์ แต่หากมีข้อบ่งชี้ต้องใช้ยาก็จะใช้ฉีดแรมดิสซีเวียร์แทน แต่หากพื้นที่ไหนมียาฉีดแรมดิสซีเวียร์จำกัด หรือไม่เพียงพอ ก็จะพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์แทนได้ แต่กรณีนี้จะให้เฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ไตรมาสสุดท้ายเท่านั้น และต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป