สธ.เร่งฉีดวัคซีน "ผู้สูงอายุ" ก่อนสงกรานต์ ลูกหลานกลับไปเยี่ยมอย่างสบายใจและปลอดภัย
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าวฉีดวัคซีนโควิด 19 ผู้สูงอายุก่อนสงกรานต์ ลูกหลานกลับบ้านสบายใจ และการปรับระบบ 1330 ลดผู้ติดเชื้อโควิด 19 ตกค้าง
นพ.โสภณกล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ของประเทศไทยยังแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่น ถ้าดูจากอัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อในประเทศไทย มีโอกาสผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเป็นไปตามฉากทัศน์เส้นคาดการณ์สีเหลือง ซึ่งอาจมีผู้ติดเชื้อสูงสุดถึง 5 หมื่นรายในช่วงหลังสงกรานต์ แต่ทุกคนสามารถร่วมกันยกระดับมาตรการป้องกันเพื่อลดการติดเชื้อลงได้ โดยคาดว่าช่วงพฤษภาคม-มิถุนายนจะเป็นขาลงของการระบาด ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ แม้ปัจจุบันสายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นทำให้มีผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า และใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ขณะที่ผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยวันนี้พบเสียชีวิต 54 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและไม่ได้รับวัคซีน
นพ.โสภณกล่าวว่า ผู้สูงอายุมีการติดเชื้อน้อยกว่ากลุ่มวัยอื่น แต่มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าวัยอื่นหลายเท่า โดยเฉพาะสูงอายุ 70 ปีขึ้นไป อัตราติดเชื้อเสียชีวิตเกือบ 3% อายุ 60-69 ปี อัตราติดเชื้อเสียชีวิต 0.6% และอายุ 50-59 ปี อัตราติดเชื้อเสียชีวิต 0.2% และจากข้อมูลพบว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุ ช่วยลดการเสียชีวิตลง 41 เท่า เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้น ในช่วง 1 เดือนกว่าๆ ก่อนสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกหลานจะกลับไปเยี่ยมที่ต่างจังหวัด กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนให้ทุกหมู่บ้านมีทะเบียนรายชื่อผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด 19 เพื่อเป็นข้อมูลให้ทุกหน่วยงานร่วมกันนำผู้สูงอายุมารับวัคซีนให้ครบถ้วนมากที่สุด และขอให้ผู้สูงอายุ 2.17 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนให้มารับวัคซีนเข็มแรก หากฉีดเข็มแรกแล้วให้ฉีดเข็ม 2 ตามนัด และหากรับครบ 2 เข็มเกิน 3 เดือนให้มารับเข็มกระตุ้น เนื่องจากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เหมือนปีที่แล้ว ที่หลายครอบครัวสูญเสียผู้สูงอายุ จากการที่ลูกหลานกลับมาเยี่ยมพร้อมนำเชื้อมาด้วย เพื่อให้ลูกหลานกลับบ้านอย่างสบายใจ โดยลูกหลานก็ต้องฉีดวัคซีนและต้องป้องกันตนเองด้วยเช่นกัน
"มีข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ลำปาง ทำการสำรวจประชาชน 86,798 คน พบว่า 37.8% ไม่ต้องการรับวัคซีนเข็ม 3 แม้ถึงเวลาที่กำหนดแล้ว เนื่องจากกังวล กลัวผลข้างเคียง และกลัวเสียชีวิต 21% และคิดว่าฉีด 2 เข็มเพียงพอแล้ว 14% ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ถ้าช่วยกันแก้ความเข้าใจผิดได้ก็จะนำกลุ่มนี้เข้ามาฉีดวัคซีนได้มากขึ้น นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนในเด็กก็จะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อในผู้สูงอายุได้ด้วย" นพ.โสภณกล่าว
ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก สามารถติดต่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษาผ่านสายด่วนต่างๆ ได้ โดยพื้นที่ กทม.ติดต่อสายด่วนประจำเขต 50 เขต หรือสายด่วน 1669 กด 2 ส่วนต่างจังหวัดมีสายด่วนประจำจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีเบอร์กลาง คือ สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีการโทรลงทะเบียนจำนวนมากขึ้นด้วย โดยสายด่วน 1330 มีผู้โทรเข้ามาสูงถึง 70,300 สาย แต่ละสายเราใช้เวลาในการพูดคุยสอบถามประมาณ 7 นาที ทำให้ส่วนหนึ่งเมื่อโทรเข้ามาแล้วสายไม่ว่างหรือไม่ได้รับสาย แม้จะมีการขยายคู่สายจนเต็ม 3,000 คู่สาย และเพิ่มจำนวนผู้รับสายแล้วมาตั้งแต่ช่วงปีใหม่ ดังนั้น จึงมีการเพิ่มช่องทางลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ สปสช. หรือไลน์ @nhso รวมถึงรับสมัครจิตอาสาทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนมาช่วยด้วย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มทางเลือกการเข้ารับการรักษาสำหรับผู้ติดเชื้อไม่มีอาการและไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงในการตรวจแบบผู้ป่วยนอก ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งไม่ต้องลงทะเบียน แต่สามารถไปติดต่อหน่วยบริการตามสิทธิได้ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย การเพิ่มจำนวนผู้รับสายและเพิ่มบริการแบบผู้ป่วยนอก ทำให้จำนวนสายที่โทรเข้ามาสายด่วน 1330 ลดลงจาก 7 หมื่นสาย เหลือ 5.5 หมื่นสาย และอัตราไม่ได้รับสาย ซึ่งเดิมมีประมาณครึ่งหนึ่ง ก็ลดลงเหลือไม่ถึง 1 ใน 4 แล้ว และคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ จำนวนสายที่ไม่ได้รับหรือรอสายจะลดลง