เทศบาลเมืองหัวหินเจ๋งคว้ารางวัลชนะเลิศดีเด่นระดับประเทศทีมผู้ก่อการดีป้องกันการจมน้ำ
เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร กระทรวงสาธารณสุข นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองหัวหิน เข้ารับโล่เกียรติคุณ “ชนะเลิศระดับทอง (ดีเด่น) "ทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ" (MERIT MAKER) ระดับประเทศ ประจำปี 2564 จาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นผู้มอบรางวัลและกล่าวแสดงความยินดี พร้อมกันนี้ นายพงษ์ดนัย เทพวนิลกร หัวหน้าหน่วยกู้ภัยสว่างหัวหินธรรมสถาน ได้นำผลงานที่คว้ารางวัลชนะเลิศในครั้งนี้มาร่วมจัดแสดงด้วย
นายอนุทิน กล่าวว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเด็ก 3 เรื่องหลัก คือ ว่ายน้ำเป็น ลอยตัวในน้ำหรือรอให้คนมาช่วยได้ การออกกำลังกายและการเรียน 2 ภาษา โดยเรื่องป้องกันการจมน้ำ สธ.ดำเนินงานตามมติสหประชาชาติร่วมมือกับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ ดำเนินงานป้องกันการจมน้ำและสร้างทีม “ผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ” (MERIT MAKER) ซึ่งช่วยลดการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กได้ร้อยละ 56 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากเดิมเด็กจมน้ำเสียชีวิตปีละ 1,500 คน เหลือ 658 คนในปี 2564 เรามีเครือข่ายฝึกฝนดูแลอบรมเด็กเล็กทั้งในโรงเรียนหรือตามสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งรูปแบบการช่วยเหลือมีแต่ต้องให้ประชาชนใส่ใจกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะถึงเวลาเราคงอ่านศึกษาไม่ทัน จากการครองสติต่างๆจึงต้องมีการศึกษาการช่วยเหลือหรือเอาตัวรอดจากเหตุฉุกเฉินก่อน ซึ่งจะให้กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต ทำการสื่อสารสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนว่าการจะไปเที่ยวที่ไหนหรือไปไหนก็ตาม ให้มองเรื่องความปลอดภัย สอดส่องว่าหากมีเหตุฉุกเฉินจะทำอย่างไร ประตูทางออกฉุกเฉิน อุปกรณ์ช่วยชีวิตอยู่ที่ไหน เช่น ชูชีพในเรือ ค้อนทุบกระจกในรถ หลักเดียวกับการออกจากบ้านที่เราพกยาดมยาหม่อง เจลแอลกอฮอล์ หรือเรื่องของภูมิปัญญาการช่วยการจมน้ำ เช่น หากไม่มีชูชีพก็สามารถหาขวดมาเย็บรวมกันเพื่อทำตัวช่วยลอยน้ำก่อนได้ เป็นต้น
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 737 คน หรือวันละเกือบ 2 คน จึงตั้งเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้เหลือ 2.5 คนต่อประชากรเด็กแสนคนภายในปี 2570 ซึ่งปี 2564 อยู่ที่ 6 คนต่อประชากรเด็กแสนคน หรือ 658 ราย ทั้งนี้ 6 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 - 2564) เกิดทีมผู้ก่อการดี 4,931 ทีม ครอบคลุม 746 อำเภอใน 76 จังหวัด ส่งผลให้แหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน 25,885 แห่ง ได้รับการจัดการให้เกิดความปลอดภัย เกิดแหล่งเรียนรู้การเรียนการสอนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 746 อำเภอ และเกิดครูสอนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 38,816 คน นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ยังได้รับประโยชน์โดยตรง ได้แก่ เด็ก 998,587 คน ได้เรียนว่ายน้ำซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการเอาชีวิตรอดเมื่อตกลงไปในน้ำ ประชาชนและเด็ก 74,886 คน ได้รับการฝึกทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ซึ่งมีประโยชน์ต่อการช่วยคนที่หัวใจหยุดเต้นทั้งจากการจมน้ำและจากสาเหตุอื่น