ศึกษาเคส "แตงโม นิดา" ตกน้ำจมหาย คนบนเรือควรกระโดดลงไปช่วยหรือไม่ กรณีนี้มีคำตอบให้ ??
"ทำไมไม่กระโดดลงน้ำไปช่วยน้องโม ?" หลังจากที่ฟังคำถามจากผู้เป็นแม่ของ "แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์" ที่ถาม "กระติก" ผู้จัดการฯ แล้ว สังคมก็ดาหน้าก่นด่าผู้จัดการสาวคนนี้กันอีกระลอก ซึ่งหากเอาข้อเท็จจริงสิ่งควรทำขณะมีคนตกน้ำ มันมีทฤษฎีอีกด้านเผยให้ดู เปิดใจแล้วจะรู้ว่าหากเป็นคุณในสถานการณ์เช่นนั้น คุณจะตัดสินใจทำอย่างไร ?
“เมื่อเห็นคนตกน้ำอย่ากระโดดลงไปช่วยในทันที" ประโยคนี้อาจจะดูขัดกับความรู้สึกคนหมู่มากในขณะนี้ หรือแย้งกับความเชื่อของหลายๆ คนที่จะอยู่เฉยได้หรือ ถ้าหากมีใครประสบเหตุปัจจุบันทันด่วนแบบนี้ แต่คำแนะนำทั่วไป เมื่อพบคนจมน้ำ คือ "ไม่ควรกระโดดตัวเปล่าๆ ลงไปช่วย หากไร้อุปกรณ์ใดๆ"
ซึ่งมีข้อสรุปจากที่ "โค้ชเป้ง" หรือ "สาธิก ธนะทักษ์" นักวิทยาศาสตร์การกีฬา แนะนำไว้ในเพจสุขภาพชื่อ Ez2fit ไว้ดังนี้
- ในออสเตรเลีย มีคนเสียชีวิตราว 5 คนต่อปี จากการกระโดดลงไปช่วยคนตกน้ำ
- ถ้าเราไม่มีความชำนาญพอ ร่างกายไม่แข็งแรงพอ การกระโดดลงไปช่วยคนจมน้ำ กลับจะทำให้เรากลายเป็นผู้เสียชีวิตไปอีกราย
- ถ้าคนตกน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็น จะเกิดความกลัว ตะเกียกตะกาย กอดรัดเรา ทำให้จมน้ำไปด้วย
- คนทั่วไป ไม่น่าจะมีความแข็งแรงและทักษะพอ ที่จะสามารถพาคนจมน้ำลอยตัว หรือพาเข้าฝั่งได้
- ต่อให้มีทักษะและร่างกายแข็งแรง ก็ยังจำเป็นที่ต้องประเมินความลึก ความแรงของกระแสน้ำ คลื่น อุณหภูมิ ทัศนวิสัย
- ในกรณีที่จำเป็นต้องลงไปช่วย กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ได้แนะนำว่า "ห้ามให้คนตกน้ำสัมผัสคนช่วยเหลือ โดยจะลงไปได้ก็ต่อเมื่อมีอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย และใช้อุปกรณ์นั้นโยนให้คนตกน้ำจับ"
คำแนะนำจาก "สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ " ในการให้ความช่วยเหลือ มีหลักคือ “ยื่น โยน พาย ลาก”
: ยื่นอุปกรณ์ให้จับ ไม่ว่าจะไม้ เข็มขัด เสื้อ
: โยนสิ่งที่ลอยน้ำให้เกาะ เช่น ถังพลาสติก ห่วง/เสื้อชูชีพ
: พาย ใช้พาหนะลอยน้ำ เช่น เรือ พายไปรับ
: ลาก โยนเชือกให้เกาะแล้วดึงเข้ามา
พร้อมทั้งตะโกน หรือโทรศัพท์ให้คนช่วยได้อีกด้วย