กรนและหยุดหายใจขณะหลับ อาจส่งผลต่อ "หัวใจ-สมอง"

2022-02-25 19:00:23

กรนและหยุดหายใจขณะหลับ อาจส่งผลต่อ "หัวใจ-สมอง"

Advertisement

กรนและหยุดหายใจขณะหลับ อาจส่งผลต่อ "หัวใจ-สมอง"

หากมีอาการหลับใน ง่วงมึน ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย เส้นเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต) สมาธิความจำลดลง หหงุดหงิดง่าย และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อาจคาดไม่ถึงว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก "การนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ " ได้

ในทุก ๆ วัน เวลาส่วนหนึ่งต้องใช้ไปกับการนอน ซึ่งการนอนเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกเพศทุกวัย ซึ่งหากชั่วโมงการนอนเพียงพอแล้วแต่กลับยังไม่สดชื่น มึนง่วงหลับ อาจต้องกลับมาพิจารณาถึง โรคทางการนอนหลับอื่น ๆ เช่น นอนกรน ซึ่งบางคนอาจคิดว่า การกรนนั้นเป็นเรื่องปกติ

แต่จริง ๆ แล้วการกรน อาจเป็นสัญญานเตือนอย่างหนึ่งของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้ ส่วนใหญ่แล้วเสียงกรนมักเกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบหรือหย่อนผิดปกติ เมื่อลมหายใจผ่านรวดเร็วขณะหลับอาจทำให้เกิดการชนกันของอวัยวะจนเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น หากเป็นมากขึ้นอาจทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจและหยุดหายใจขณะหลับเป็นระยะ ๆ ได้ บางรายอาจทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติได้ และอาจกระตุ้นให้เกิดการหายใจเฮือกขึ้นมาขณะหลับ บางคนจะรู้สึกได้ว่ากลางดึกขณะหลับอยู่ต้องตื่นขึ้นมาหายใจ ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการนอนหลับและคุณภาพการนอนไม่ดีได้ หากเป็นมาก อาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงตามมาได้หลายอย่าง ข้างต้น โดยเฉพาะอาจทำให้ง่วง หลับในจนเกิดอุบัติเหตุจนถึงแก่ชีวิตได้ ในเด็กยังอาจส่งผลต่อระบบประสาทและพฤติกรรม ความจำ ความฉลาด อีกด้วย ดังนั้น โรคนี้หากเป็นมากทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดีได้ทั้งตอนนอนและตอนตื่น ทั้งยังอาจก่อโรคที่ร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาได้ด้วย

เบื้องต้น ควรฝึกสุขนิสัยการนอนหลับที่ดีก่อน ใช้เวลานอนให้พอ เช่นวัยทำงาน ประมาณ 7-9 ชั่วโมง บางคนมีปัญหานอนไม่หลับ เช่น จาก คิดมาก เครียด ควรแก้ที่สาเหตุ และฝึกสุขนิสัยการนอนที่ดี เช่น ตื่น หลับ ให้เป็นเวลา ปัจจุบัน หลายคนชอบนอนเล่นโทรศัพท์ ดูทีวี บนเตียง ซึ่งจะทำให้ชิน เมื่อจะนอนจริงอาจนอนไม่หลับได้ และแสงจากจอมือถืออาจส่งผลให้นอนไม่หลับได้เช่นกัน หากมีปัญหานอนกรนควรรักษา เพราะอาจทำให้คุณภาพการนอนไม่ดี ส่งผลต่อชีวิตได้ และควรหาสาเหตุ ว่ามีทางเดินหายใจแคบ หย่อน จากอะไร เช่น มีเนื้องอกขวางทางเดินหายใจส่วนบน อ้วน โคนลิ้นใหญ่ ต่อมทอนซิลโต ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ เป็นต้น

สำหรับการรักษากรนมีหลายวิธี ขึ้นกับแต่ละบุคคล ระดับความรุนแรง สาเหตุการกรน และตำแหน่งแคบหย่อน ซึ่งแพทย์อาจประเมินจาก ประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจส่งตรวจ ส่องกล้อง ตรวจการนอนหลับ เป็นต้น สำหรับการรักษาเช่น การใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก การผ่าตัดแก้ทางเดินหายใจส่วนที่แคบหย่อน การใช้อุปกรณ์ในช่องปาก หรือใช้หลายวิธีร่วม ๆ กันเป็นต้น เบื้องต้นสำหรับการปฏิบัติตัว เช่น หากอ้วนควร ลดน้ำหนัก นอนตะแคงอาจช่วยได้ในบางราย หลีกเลี่ยงยานอนหลับ แอลกอฮอล์ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากดประสาทส่วนกลางก่อนนอน  และหากไม่ดีขึ้น มีปัญหาแทรกซ้อนตามมา หรือ เสียงกรนทำให้คนข้าง ๆ นอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์

อ.พญ. นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล

ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล