มติรัฐสภารับหลักการ 4 ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ตั้ง กมธ. วิสามัญ 49 คนพิจารณาต่อ
เมื่อเวลา 17.05 น. วันที่ 24 ก.พ. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นางชื่นสุมน นิวาทวงษ์ ตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงว่า มาตรา 90 ในการพิจารณาเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อ มีการพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 48 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เนื่องจากมาตรา 90 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้ ซึ่งการพิจารณาว่ากรณีใดเป็นกรณีที่ได้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อแล้ว จำเป็นต้องพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 48 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งกำหนดว่าในการสมัครรับเลือกตั้งให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร เรียงตามลำดับเลขที่ของหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้ง ที่ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งออกให้ ดังนั้น เมื่อพิจารณา 2 มาตรานี้ประกอบกัน สรุปว่าการจะถือว่าได้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตแล้ว ผู้สมัครผู้นั้นจึงจะต้องมีหลักฐานการรับสมัคร และมีหมายเลขผู้สมัครตามมาตรา 48 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.แล้ว
จนกระทั่งเวลา 17.35 น. ภายหลังการอภิปรายนานกว่า 7 ชั่วโมง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้เสร็จสิ้นในขั้นตอนการอภิปรายแสดงความเห็นต่อร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... แล้วเสร็จ ได้ถึงขั้นตอนของการลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ โดยใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของที่ประชุม
ทั้งนี้ก่อนการลงมตินายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอให้ลงมติพร้อมกันทีเดียว 4 ฉบับ ทั้งของครม. พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และของพรรคร่วมรัฐบาล แต่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอให้แยกการลงมติรายฉบับ เพราะมี ส.ว. อภิปรายระบุว่า มีบางฉบับที่อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งท้ายที่สุดผลการลงมติพบว่าเสียงข้างมาก 429 เสียงให้ใช้การลงมติแบบแยกรายฉบับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการลงมติพบว่า ที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมาก รับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง (ฉบับที่...) พ.ศ... ทั้ง 4 ฉบับ ดังนี้ 1.ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นด้วยรับหลักการ 609 เสียงต่อ 16 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง 2.ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่เสนอโดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะ ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นด้วยรับหลักการ 420 เสียงต่อ 205 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง 3.ร่างพ.ร.ป.ด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่เสนอโดยนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นด้วยรับหลักการ 598 เสียงต่อ 26 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และ4. ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่เสนอโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และคณะนั้นที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นด้วยรับหลักการ 418 เสียงต่อ 202 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง
จากนั้นตั้งคณะคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ จำนวน49 คน ประกอบด้วย สัดส่วนครม. 8 คน ได้แก่ นายสาธิต ปิตุเตชะ นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ นายเกรียงไกร พานดอกไม้ นางชื่นสุมล นิวาทวงษ์ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายศุภชัย ใจสมุทร นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์
สัดส่วน ส.ว. 14 คน ได้แก่ นายกล้านรงค์ จันทิก นายกิตติ วะสีนนท์ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม น.ส.ปิยะฉัฏฐ์ วันเฉลิม นายประสิทธิ์ ปทุมารัตน์ พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ 17.นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ นางวรารัตน์ อติแพทย์ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ นายสมชาย แสวงการ นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ พรรคเพื่อไทย 8 คน ได้แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายกฤช เอื้อวงศ์ 27.นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ นายสมคิด เชื้อคง นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ นายสามารถ แก้วมีชัย
พรรคพลังประชารัฐ 8 คน ได้แก่ นายอนันต์ ผลอำนวย นายรงค์ บุญสวยขวัญ นายจักรพันธ์ พรนิมิตร นายกฤษณ์ แก้วอยู่ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ นายสัญญา นิลสุพรรณ พรรคภูมิใจไทย 3 คน ได้แก่ นายเกษมสันต์ มีทิพย์ นายคารม พลพรกลาง นายธนิต ศรีประเทศ พรรคก้าวไกล 3 คน ได้แก่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา นายณัฐวุฒิ บัวประทุม นายธีรัจชัย พันธุมาศ พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน ได้แก่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ พรรคเศรษฐกิจไทย 1 คน ได้แก่ นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน ได้แก่ นายนิกร จำนง พรรคเสรีรวมไทย 1 คน ได้แก่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร พรรคประชาชาติ 1 คน ได้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา โดยกมธ.จะนัดประชุมนัดแรกในวันที่ 1 มี.ค.นี้
จากนั้นเวลา 18.00 น. ที่ประชุมได้เริ่มพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ....) พ.ศ.... จำนวน 6 ร่าง