กมธ.คมนาคมจัดสัมมนา "สายสีเขียวจะไปอย่างไรต่อ" ด้าน "สารี" ระบุต้องชะลอการต่อสัญญาสัมปทาน ชี้ราคาค่าโดยสาร 65 บาทถือว่าไม่เป็นธรรม
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพมหานคร คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎรได้จัดงานสัมมนาเรื่อง "สายสีเขียวจะไปอย่างไรต่อ" โดยมีนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้าร่วม
นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า เป็นการจัดสัมมนาเพื่อหาทางออกให้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1.เพื่อได้รับทราบสถานะโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบัน 2.เพื่อได้ทราบข้อมูลที่จะฝ่ายเสนอต่ออายุสัมปทานว่าจะเป็นผลดีผลเสียต่อประชาชนอย่างไรในการเลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนและ 3.เป็นการใช้เวทีระดมความคิดเพื่อหาทางออกจากภาคประชาชนร่วมกัน โดยเวทีนี้เป็นการนำข้อมูลข้อเท็จจริงมาให้สาธารณะชนได้รับทราบถึงข้อมูลการตัดสินใจของรัฐบาล
น.ส.สารี กล่าวว่า หากเราไม่ทำอะไรเลยก็จะขาดโอกาสที่ทำให้ระบบรถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนจริงๆ จะทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้จริง เช่นใน 100 คน มีคนใช้รถส่วนตัว 40 คน และในบริการขนส่งมวลชนทั้งหมดมีใช้รถไฟฟ้าเพียง 3 คนด้วยเหตุผลราคาแพง หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่รวยกว่าเรา แต่เขาจ่ายค่าเดินทางน้อยกว่าเราเยอะ ทำไมบ้านเราถึงแพง โดยเฉพาะกรณีที่เสนอคณะรัฐมนตรี 65 บาทนั้น ถามว่าจะทำให้ทุกคนไปใช้บริการได้อย่างไร ทำให้เกิดปัญหา และเชื่อว่าทุกภาคส่วนพยายามหาทางแก้ไขปัญหา ตอนนี้ที่เราทำได้คือต้องชะลอการต่อสัญญาสัมปทาน และตอนนี้เรายังเหลือเวลา 7 ปีในการดำเนินการต่อสัญญา ดังนั้นต้องหาทางออกว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้หมดโอกาสในการจัดการรถไฟฟ้าในประเทศของเรา และเราต้องไม่สร้างภาระให้กับคนรุ่นต่อไป ในส่วนของตนมีจุดยืนคืออยากเห็นว่ารัฐบาลและกทม.ต้องจ่ายหนี้บริษัท อย่าให้ทำบริษัทเขามีปัญหาเรื่องสภาพคล่องและจะได้ไม่ต้องไปฟ้องร้องกัน ทั้งนี้จากการคำนวนค่าโดยสาร 65 บาทจะพบว่าเราอยู่ไม่ได้แน่นอน และอยากให้นึกย้อนไปตอนบีทีเอสยกเลิกตั๋วเดือน ทำให้คนเดือดร้อนมาก และจะเห็นว่าคนที่ใช้รถไฟฟ้าประจำจะสามารถจ่ายได้ 24-28 บาทเท่านั้น สิ่งที่เราต้องดูแลคือการทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนต่อเดือนหรืออัตราสูงสุดต่อวัน รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสามารถทำเรื่องเหล่านี้ ถ้าทำไม่ได้ก็ให้คนที่เขาทำได้มาทำ
น.ส.สารี กล่าวว่า ทั้งนี้ตัวเลขของ กทม. 65 บาท จะทำให้มีรายได้ 597,566 ล้านบาท ส่วนตัวเลขของกระทรวงคมนาคมประมาณ 50 บาท ทำให้มีรายได้ 380,200 ล้านบาท ถ้าเราลดค่าโดยสารลงเหลือ 25 บาท ก็ยังทำให้กทม.มีรายได้อยู่ที่ 23,200 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าประเทศเราทำได้ แต่หากครม.พิจารณาแล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องปฏิบัติตาม เราทำได้อย่างมากก็คือเสียค่าโง่ ดังนั้นทุกฝ่ายควรพิจารณาราคาให้ดีและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ซึ่งราคา 65 บาทถือว่าไม่เป็นธรรม ตนก็มีข้อเสนอระยะสั้นว่า สิ่งที่กทม.ควรทำคือต้องเก็บเงินส่วนต่อขยาย ไม่ใช่อยู่ดีๆให้คนขึ้นฟรี เพราะต้องมองทั้งระบบ เพื่อไม่ให้ไปลดทอนสิทธิของบริษัท อีกทั้ง กทม.ควรหารายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่นสถานีต่างๆที่ยังไม่ได้ทำอะไร เราทำเรื่องที่ง่ายให้มันซับซ้อนพันไปหมดจนไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร และเชื่อว่ากทม.จะสามารถหาเงิน 3 หมื่นกว่าล้านบาทมาจ่ายคืนให้บริษัทได้อย่างแน่นอน เพราะเชื่อว่าประเทศเราจะไม่มีเงิน ส่วนข้อเสนอหลังหมดสัญญาสัมปทานก็ขอให้ประมูลเดินรถใหม่ ควรยึดว่าใครจะทำให้มีราคาถูกท่ามกลางมาตรฐานการให้บริการที่ประชาชนยอมรับได้ แต่ถ้ารัฐบาลพิจารณาใช้ 65 บาทระวังผิดมาตรา 157 ว่ากำลังเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ และยังสร้างภาระให้ผู้บริโภค
“เชื่อว่า กทม.จ่ายหนี้ได้แน่นอน สิ่งที่สำคัญคือถ้าเราทำอะไรโดยไม่คิดถึงอนาคตเราจะเสียโอกาส จะมีแต่ค่าโง่ที่ตามมา แล้วประชาชนจะอยู่ตรงไหน เราอยากให้ทุกส่วนรักษาผลประโยชน์ประชาชน ช่วยกันดูแล เอกชนควรร่วมมือรัฐบาลและไม่เอาเปรียบใครเลย” น.ส.สารี กล่าว
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยรับฟังความคิดเห็นจากหลายแนวทาง ในส่วน กทม.ก็ให้ความเห็นว่าหากให้ลดหนี้ด้วยและลดค่าโดยสารด้วยกทม.จะอยู่อย่างไร ส่วนข้อเสนอที่ให้รัฐบาลจ่ายหนี้แทน ก็มีคำถามว่าทำไมรัฐบาลต้องเลือกมาดูแลเฉพาะคนขึ้นบีทีเอส คนอีกกลุ่มบอกว่าไม่งั้นรัฐบาลและกทม.ช่วยกันได้หรือไม่ ส่วนที่กระทรวงมหาดไทยมาเกี่ยวข้องเพราะเรื่องอะไรก็แล้วแต่ของกทม.จะนำเข้าที่ประชุมครม.เองไม่ได้ กระทรวงมหาดไทยต้องนำเรื่องเข้าแทน หลักการเจรจาของกทม.คือหนี้ต้องชำระได้ เราจะไปเบี้ยวเขาไม่ได้ หากบริษัทเขาขาดสภาพคล่องหยุกการเดินรถประชาชนจะเดือดร้อน และเรื่องค่าใช้จ่ายจึงเกินตัวเลขอัตราที่ประชาชนจ่าย 65 บาท เพื่อให้บริษัทเดินรถได้ กทม.ใช้หนี้ได้ ทำให้ประชาชนต้องจ่ายอัตรานี้
นายสรพงศ์ กล่าวว่า สาเหตุที่กระทรวงคมนาคมต้องเข้ามาเกี่ยงข้องรถไฟฟฟ้าสายสีเขียว เพราะเป็นผู้ปฏิบัติ เป็นผู้กำกับดูแลและเป็นผู้ดำเนินการงานนโยบายในการขนส่งสาธารณะและขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้งสองส่วนมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับเหมา เพราะรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยายโดยส่วนใหญ่อยู่นอกพื้นที่กทม. และรฟม.มีอำนาจชัดเจนในการก่อสร้างนี่คือเจตนารมรณ์ตั้งแต่แรก เพราะเกรงว่าจะเป็นภาระกับท้องถิ่นคือกทม. เราบูรณาการกับทุกหน่วยงาน ส่วนความถี่เรื่องการเดินรถจะให้เท่ากับเขตเมืองเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้โดยสารและความต้องการในการเดินทางจำนวนไม่เท่ากัน สำหรับเรื่องเชิงนโยบาย ทางกระทรวงคมนาคมมีความกังวลถ้าอัตราค่าโดยสารแพงขึ้น เพราะหน่วยงานแรกที่โดนต่อว่าคือกระทรวงคมนาคม เราเองก็พยายามคุยกันจับมือกับทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหน้ากันเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เช่นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพูที่จะไม่คิดค่าแลกเข้าซ้ำซ้อน แต่แปลกใจว่าคณะกรรมการเจรจาของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่เคยพูดเรื่องนี้ไว้ หากปี 2602 ถ้าสายสีเขียวยังเป็นไข่แดง ทุกคนไม่เข้ามาเชื่อม ตนลดอัตรค่าโดยสารให้ไม่ได้ เพราะตนคงไม่โอกาสอยู่ได้ถึงวันนั้น ดังนั้นต้องเจรจากันให้จบในโอกาสนี้
นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า เราต้องเคลียร์เรื่องกฎหมายให้จบ โดยกทม.และกระทรวงคมนาคมหันหน้าเข้าหากันต้องรีบเคลียร์ปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ เพื่อให้กทม.เป็นเจ้าของโครงการและมีอิสระมากขึ้น ส่วนทางวิชาการต้องพูดคุยกันด้วยเหตุผลมากขึ้น ถ้าวันนี้ตนสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้เอง คิดว่าเมื่อกทม.ได้ส่วนแรกและได้ส่วนที่สองไปแล้ว รออีก 7 ปีกทม.จะได้ทั้งหมดของสายสีเขียว ตอนนี้ที่ทำได้คือควรเอาเงินในอนาคตมาใช้จ่ายในช่วง 7 ปีนี้ให้จบ และใช้หนี้ค่าเดินรถและเริ่มปิดหนี้ตามพ.ร.บ.ร่วมทุน