กลุ่มสิทธิมนุษยชน กังวลเสรีภาพสื่อในเมียนมา กำลังสั่นคลอนอย่างหนัก มีการจับกุมคุมขังนักข่าวบ่อยครั้งขึ้น แม้จะผ่านยุคเผด็จการทหารมาแล้วก็ตาม
กลุ่มสิทธิมนุษยชน แถลงว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนในเมียนมา กำลังถูกริดรอนอย่างหนัก แม้ว่าจะผ่านยุคการปกครองของเผด็จการทหารที่ควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดมาหลายสิบปี สู่ยุครัฐบาลของนางออง ซาน ซู จี ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม โดยเมียนมาควบคุมนักข่าวแล้วอย่างน้อย 29 คน ในระยะเวลา 20 เดือน ตั้งแต่นางซู จี ก้าวขึ้นสู่อำนาจ แม้ส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัวออกไป แต่การจับกุมก็เกิดขึ้นถี่มาก รวมทั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่รัฐบาลเมียนมา ควบคุมตัว 2 นักข่าวของรอยเตอร์ ซึ่งก็จุดชนวนให้เกิดความวิตกกังวลครั้งใหม่ต่อสื่อมวลชนในประเทศ ที่พยายามจะรายงานข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในรัฐยะไข่
“มีความเสี่ยงถาโถมเข้าใส่สื่อมวลชนมากเกินไป ผมรู้สึกว่าพวกเราก้าวไปข้างหน้าไม่ได้เลย เสรีภาพของสื่อและการแสดงออก ถอยหลังลงคลอง” ซันนี ฉวย ประธานบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร ฟรอนเทียร์ (Frontier) ในกรุงย่างกุ้ง กล่าว
จนถึงเดือนธันวาคม มีนักข่าว 5 คน ซึ่งรวมทั้งนักข่าวรอยเตอร์ 2 คนด้วย ถูกจับกุมตัวขังคุก
นายหว้า โลน และจ่อ โซ ออ ซึ่งทำงานให้รอยเตอร์ในการรายงานข่าวเกี่ยวกับวิกฤตความรุนแรงในรัฐยะไข่ ถูกจับกุมตัวในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงสารสนเทศเมียนมา แถลงว่า นักข่าวทั้ง 2 คน เจตนาแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายกับสื่อต่างชาติ หากมีความผิด พวกเขาต้องถูกลงโทษจำคุก 14 ปี ภายใต้กฎหมายความลับของทางราชการ
เจ้าหน้าที่รัฐบาลเมียนมา บอกว่า คดีนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อ “มีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย บนพื้นฐานที่ว่าคุณยืนอยู่ฝั่งไหน เมียนมายังมีเสรีภาพของสื่อ ตราบใดที่คุณปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย” จ่อ โซ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงสารสนเทศเมียนมา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับรอยเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา แต่เขาปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ทั้งนี้ สื่อในเมียนมาคึกคักมีชีวิตชีวามากขึ้นตั้งเริ่มมีการเปลี่ยนถ่ายการปกครองจากเผด็จการทหารในปี 2554 และมีการยกเลิกการตรวจสอบข้อมูล หรือเซ็นเซอร์ ก่อนตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2555 อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ สื่อไร้พรมแดน จัดอันดับ “เสรีภาพสื่อ” เมียนมาอยู่ที่อันดับ 131 จากทั้งสิ้น 180 ประเทศ “ทางการยังคงใช้อิทธิพลกดดันสื่อและแม้แต่แทรกแซงโดยตรงเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายกองบรรณาธิการ” สื่อไร้พรมแดน ระบุในรายงานประจำปีนี้