"ทส.-เอสซีจี"จับมือป้องกันปัญหาหมอควันไฟป่า PM2.5

2022-02-15 21:42:19

"ทส.-เอสซีจี"จับมือป้องกันปัญหาหมอควันไฟป่า PM2.5

Advertisement

"ทส.-เอสซีจี"ร่วมมือบริหารจัดการวัสดุเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า ป้องกันปัญหาหมอควันไฟป่า   PM2.5

เมื่อวันที่ 15 ก.พ.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ กับ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการวัสดุเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการวัสดุเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า พร้อมด้วยนายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ณ ห้องประชุมศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลง ร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบริษัทเอสซีจี ซิเมนต์ ในครั้งนี้ เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการช่วยกันป้องกันแก้ไข และบรรเทาสถานการณ์ปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองของประเทศ จากการเผาในที่โล่ง โดยการนำวัสดุเชื้อเพลิงมาใช้ประโยชน์ ลดการเผาป่า ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนอีกด้วย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเชื้อเพลิง พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐบาลมีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง และสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ


“การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” อย่างเคร่งครัด ส่งผลสถานการณ์ในปี 2564 ของพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ดีขึ้นกว่าปี 2563 ในช่วงเวลาเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ลดลงมากกว่าร้อยละ 52 จำนวนวันที่ค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐานลดลงมากกว่าร้อยละ 8 สำหรับสถานการณ์ในช่วงต้นปีนี้พบว่าดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาเช่นกัน แต่ยังคงพบจุดความร้อนจำนวนมากในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าและเกษตร จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์เศษวัสดุเชื้อเพลิงเพื่อลดการเผา โดยในปี 2564 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการ “ชิงเก็บ ลดเผา” ซึ่งสามารถเก็บขนเชื้อเพลิงมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 2,500 ตัน โดยในพื้นที่ชิงเก็บสามารถช่วยลดจุดความร้อนได้มากกว่าร้อยละ 60 ในปีนี้จึงได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 3,000 ตัน โดยจะต้องลดจุดความร้อน (Hotspot) ให้ได้ 20% การที่เอสซีจีมาทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือในครั้งนี้ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืนต่อไป


นายชนะ ภูมี Vice President – Cement and Green Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี ตระหนักและทราบถึงปัญหา ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 รวมถึงความพยายามในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และชุมชน เอสซีจี พร้อมจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยร่วมกับภาครัฐในด้านต่างๆ พร้อมทั้งการถ่ายทอดและพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม ในการบริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรและวัสดุเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งเชื้อเพลิงทับถม นำมาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์ สอดคล้องกับแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจของ SCG ที่มุ่งยกระดับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลัก ESG 4 Plus (Environmental, Social and Governance) ประกอบไปด้วย 1. มุ่ง Net Zero 2. Go Green 3. Lean เหลื่อมล้ำ 4. ย้ำร่วมมือ Plus เป็นธรรม โปร่งใส และมีบรรษัทภิบาล

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ และเอสซีจี ซิเมนต์ จะบูรณาการความร่วมมือในการบริหารจัดการและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ วัสดุเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่า โดยการขับเคลื่อนการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้เกิดโครงการอย่างเป็นรูปธรรม และหวังว่าความร่วมมือในวันนี้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน ดสังคม และสิ่งแวดล้อม