"หมอธีระ"ชี้โควิด-19 ประเทศไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น การระบาดน่าจะเข้าสู่พีคในช่วง 27 ก.พ.
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเพจ Thira Woratanarat ระบุว่า 14 ก.พ. 2565 วันแห่งความรัก
ทะลุ 412 ล้านแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,460,719 คน ตายเพิ่ม 5,433 คน รวมแล้วติดไปรวม 412,055,598 คน เสียชีวิตรวม 5,833,887 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย เยอรมัน ฝรั่งเศส ตุรกี และญี่ปุ่น
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.09 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 83.56 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 53.24 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 33.16 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 8 ใน 20 อันดับแรกของโลก
วิเคราะห์ภาพรวมทั่วโลก ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีจำนวนติดเชื้อใหม่ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าถึง 19% และตายลดลง 1% ในขณะที่เอเชียเรา ติดเชื้อลดลง 9% ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และมีตายเพิ่มขึ้น 7% สวนกระแสโลก
ส่วนไทยเรานั้น ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 47% และตายเพิ่มขึ้น 12% ถือว่าเป็นขาขึ้นชัดเจน และต้องเน้นย้ำว่านี่เป็นตัวเลขที่ดูตามรายงานทางการที่เป็นเพียงจำนวนติดเชื้อยืนยัน โดยยังไม่ได้รวม ATK ดังนั้นสถานการณ์ระบาดจริงนั้นจึงรุนแรงกว่าตัวเลขข้างต้น
ดังที่วิเคราะห์ไปเมื่อวานนี้แล้วว่า หากเราเป็นไปตามธรรมชาติการระบาดที่เห็นจากประเทศอื่นทั่วโลก มีความเป็นไปได้ว่าการระบาดของไทยน่าจะเข้าสู่พีคในช่วง 27 ก.พ. โดยอาจเบี่ยงเบนจากนั้นราวหนึ่งสัปดาห์ ทั้งนี้ค่ามัธยฐานของจำนวนการติดเชื้อใหม่สูงสุดของ 22 ประเทศที่มีจำนวนติดเชื้อสะสมมากที่สุดใน 30 ลำดับแรกของโลก และได้ผ่านช่วงพีคของการระบาดไปแล้วนั้นจะอยู่ราว 3.6 เท่าของระลอกก่อนหน้า
การตระหนักถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่าการระบาดกำลังทวีความรุนแรง กระจายไปทั่ว และเป็นขาขึ้น จึงมีความสำคัญมาก ควรดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ป้องกันตัวเสมอ ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น เลี่ยงสถานที่คับแคบ ทึบ ระบายอากาศไม่ดี แออัด
ยิ่งวันนี้เป็นวันแห่งความรัก ซึ่งจะมีวัยรุ่นและวัยทำงานจำนวนมากออกมาเฉลิมฉลองกัน กินดื่มกัน หรือมีกิจกรรมพบปะกัน หากไม่ป้องกันให้ดีจะมีการติดเชื้อแพร่เชื้อกันได้มาก และนำพาสู่การแพร่ระบาดในหมู่สมาชิกในครอบครัวและในสถานที่ทำงานกันเป็นทอดๆ โดยอาจทำให้การระบาดหนักขึ้น และยาวนานขึ้นได้
พึงระลึกไว้เสมอว่า แม้ Omicron จะรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่การติดเชื้อโควิด-19 นั้น ไม่ใช่แค่ติดเชื้อ ไปรักษาหรือประคับประคองดูอาการแล้วจะจบที่การหายจากโรค ปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอย่างหนักคือ ภาวะอาการคงค้างระยะยาวและโรคเรื้อรังที่จะเกิดขึ้น ที่เรียกว่า Long COVID ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งตัวคนที่เคยติดเชื้อ ครอบครัว และสังคม โดยจะส่งผลต่อสมรรถนะของร่างกาย และสมรรถนะในการทำงานได้
สถานการณ์ในเดนมาร์ก หนึ่งในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ที่ยกเลิกมาตรการเข้มข้นป้องกันการระบาดไปเมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อน ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณของผลกระทบตามมา ทั้งในเรื่องจำนวนการติดเชื้อใหม่รายวัน การป่วย และการเสียชีวิต ดังนั้นไทยเราคงต้องพิจารณาเรื่องนโยบายให้ดี การตัดสินใจก้าวตามคนอื่นนั้นควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะจุดหมายปลายทางนั้นอาจไม่ใช่ทางสว่างเสมอไป ค่อยๆ ก้าวอย่างมั่นคง จะไม่หกล้ม และอยู่รอดปลอดภัยไปด้วยกัน สุขสันต์วันแห่งความรักครับ