นายกฯ เปิดการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 กทม.-นครราชสีมา ลั่นจะทำให้จบเส้นทางไปจนถึงหนองคาย ขออย่าคิดถึงรายได้เฉพาะผู้ที่มาใช้บริการ แต่จะเกิดธุรกิจตลอดเส้นทางเป็นการกระจายรายได้
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่มอหลักหินรัชกาลที่ 5 ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และนายหวัง เสี่ยวเทา รอง ผอ.คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เป็นประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วง กท.-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วง กทม.-นครราชสีมา) โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมในพิธี
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ดีใจยินดีเป็นเกียรติที่ได้มาพบทุกท่านในวันประวัติศาสตร์ของรถไฟไทย ขอขอบคุณคำกล่าวของนายหลี่เค่อเฉียง และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-จีน ยืนยันว่าจะทำให้จบในเส้นทาง กทม.-หนองคาย รัฐบาลนี้สนับสนุนการเชื่อมโยงทุกภูมิภาคเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่องการค้าการลงทุน และความสัมพันธ์ในทุกมิติ เราพูดถึงการเชื่อมโยงระบบทางรถไฟไปยังลาว พร้อมเป็นศูนย์กลางการขนส่ง โดยเราจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง โดยเฉพาะอีก 20 จังหวัดของประเทศที่ยังมีรายได้น้อยซึ่งต้องทำให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ดี การลงทุนแม้จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่อย่าคิดถึงรายได้เฉพาะผู้ที่มาใช้บริการหรือที่เรียกว่าผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มีผลประโยชน์อย่างอื่นที่ตามมาจำนวนมาก โดยเฉพาะจะเกิดธุรกิจตลอดเส้นทางเป็นการเพิ่มและกระจายรายได้ ซึ่งรัฐบาลจะพยายามเร่งรัดทุกๆอย่าง และจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมาย และกติกาบางอย่าง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ขออย่ามองเป็นเรื่องอื่น ทุกอย่างที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ
นายกฯ กล่าวต่อว่า ทุกอย่างต้องมีเริ่มต้นไม่ได้เสร็จในวันเดียว ทุกหน่วยงานจึงต้องช่วยกัน ให้เกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และการลงทุนไม่ได้ดูแค่คนขึ้นรถไฟ แต่ผลประโยชน์โดยอ้อมเกิดตลาดแหล่งการค้าระหว่างทางรถไฟ ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้นปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เสริมกับการเดินทางทางอากาศ สิ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นในโลกวันนี้คือ กายภาพการเชื่อมโยงที่จะเกิดขึ้น
“ขอพูดกับชาวอีสานบ้านเรา ซึ่งเป็นบ้านผมเหมือนกัน วันนี้เรากำลังยกระดับให้พ้นความยากจนในประเทศไทย ซึ่งระหว่างเดินทางมาถึงที่นี่โดยเฮลิคอปเตอร์ ผมเห็นแต่พื้นที่เกษตร คงไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงต้องคิดว่าทำอย่างไร เกษตรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำอย่างไรช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ ก็ขอความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคธุรกิจด้วย ในส่วนของรัฐบาลนั้น คาดว่าอีก 2 เดือน จะสามารถลงพื้นที่ยากจนเพื่อสำรวจข้อมูลในระดับครัวเรือน และสอบถามความต้องการเพราะไม่สามารถบังคับให้ใครทำอะไรได้ แต่ทุกคนเสนอความต้องการได้ อาทิ ต้องการความรู้ ต้องการเทคโนโลยี ทุกคนต้องช่วยกันเป็นปากเป็นเสียง ให้เกิดความชัดเจน วันนี้เพื่อนจากจีนมา ผมเห็นหลายอย่างที่สอดคล้องกันจึงควรนำมาประยุกต์ต่อนยอด และพัฒนานืนยันประเทศไทยเป็นเพื่อนกับทุกประเทศ โดยมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน แบ่งประโยชน์เท่าเทียมกัน ซึ่งจะช่วยยกระดับไทยให้ดีขึ้น คาดว่าใช้เวลา 1-2 ปี จะสำเร็จ ผมจะทำให้ดีที่สุด”นายกฯ กล่าว
กระทรวงคมนาคม ตั้งเป้าเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง ในปี 2566
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทาง และนายหวังเสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ร่วมเป็นประธาน ในพิธีเปิด การก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ- หนองคาย ระยะทางรวมประมาณ 607 กิโลเมตร
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่าจะเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 กทม.- นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร ทั้งหมด 6 สถานีวงเงินลงทุน 179,000 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างช่วงแรกจากกลางดง - ปางอโศก จะมีระยะทาง 3.5 กิโลเมตร โดยจะเร่งรัดแบบการก่อสร้างส่วนที่เหลือให้ได้ภายในกลางปีหน้า คาดก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2565ส่วนเส้นทางจากนครราชสีมา - หนองคายระยะทาง 355 กิโลเมตร จะเริ่มขออนุมัติการก่อสร้างจากรัฐบาล เพื่อเร่งรัดการออกแบบ ในปีหน้าตั้งเป้าที่จะเปิดให้บริการทั้งเส้นทางในปี 2566
สำหรับอัตราค่าบริการระยะที่ 1 กทม.-นครราชสีมา จะเริ่มต้นที่ สถานีแรก คือ ดอนเมืองในอัตรา 105 บาท และสถานีโคราช 535 บาท ประโยชน์ที่ ประชาชนจะได้รับจากโครงการรถไฟความเร็วสูงคือ ช่วยเชื่อมต่อการเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีค่าเฉลี่ยรายได้ต่ำที่สุด รวมถึงลดระยะเวลาในการเดินทาง โดยประเมินว่า การเดินทางจาก กทม. - นครราชสีมาจะใช้เวลา 1 ชม. 30 นาที และจาก กทม. - หนองคายจะใช้เวลา 3 ชม. 30 นาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 4-6 ชั่วโมง สำหรับการเปิดให้บริการในช่วงแรกคาดว่าจะมีผู้โดยสาร 5,300 คนต่อวัน และในปี 2594 จะมีผู้ใช้บริการขั้นต่ำ 26,800 คนต่อวัน