คพ. สรุปสถานการณ์คุณภาพน้ำปี 64 น้ำผิวดินมีแนวโน้มคุณภาพดีขึ้น น้ำทะเลแนวโน้มคุณภาพลดลง
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการสรุปผลตรวจสอบคุณภาพน้ำประจำปี 2564 พบว่า สถานการณ์คุณภาพน้ำผิวดินมีแนวโน้มดีขึ้น คุณภาพน้ำ 59 แหล่งน้ำ และ 6 แหล่งน้ำนิ่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 46 (เพิ่มขึ้นจากปี 2563) รองลงมาอยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 40 (เพิ่มขึ้นจากปี 2563) ส่วนเกณฑ์เสื่อมโทรมลดลงเหลือ ร้อยละ 14 (ลดลงจากปี 2563) แหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ดี 5 อันดับแรก ได้แก่ ตาปีตอนบน หนองหาร เพชรบุรีตอนบน กุยบุรี และปราณบุรี นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม 5 อันดับแรก ได้แก่ เจ้าพระยาตอนล่าง ลำตะคองตอนล่าง ท่าจีนตอนล่าง กวง และลพบุรี ซึ่งพบว่าแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมีปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ เช่น การระบายน้ำทิ้งจากชุมชนเมือง พื้นที่เกษตรกรรม (นาข้าว) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการปศุสัตว์ที่ไม่มีระบบการจัดการของเสีย และการระบายน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่หนาแน่น กิจกรรมทางเรือท่องเที่ยว เป็นต้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2560-2564) คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงดี ไม่มีแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า สถานการณ์คุณภาพน้ำทะเล มีแนวโน้มคุณภาพน้ำทะเลลดลงจากปีที่ผ่านมา ในภาพรวมคุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 47 (ลดลงจากปี 2563) รองลงมาอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 40 (เพิ่มขึ้นจากปี 2563) เกณฑ์ดีมาก ร้อยละ 3 (ลดลงจากปี 2563) เกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 7 (เท่ากับปี 2563) และเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 3 (เพิ่มขึ้นจากปี 2563) แหล่งน้ำทะเลที่มีคุณภาพน้ำดี 5 อันดับแรก ได้แก่ เกาะยูง จังหวัดกระบี่ หาดโล๊ะดาลัม เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ อ่าวมาหยา เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ หาดโล๊ะบาเกา เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ และหาดต้นไทร เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ นอกจากนี้ยังพบแหล่งน้ำทะเลที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม 5 อันดับแรก ได้แก่ ปากคลองบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ อ่าวชลบุรี จังหวัดชลบุรี แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และปากคลองชากหมาก จังหวัดระยอง ทั้งนี้ ยังพบการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทย จำนวน 25 ครั้ง เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเลและชายฝั่งทั้งสิ้น 17 ครั้ง และปะการังฟอกขาว พบว่าฝั่งอ่าวไทยเริ่มมีสีจางลงและฟอกขาวในบางพื้นที่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมโดยเฉพาะพื้นที่ที่แนวปะการังโผล่พื้นน้ำในช่วงน้ำลง เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้เกิดปะการังฟอกขาว
"มาตรการและแนวทางจัดการคุณภาพน้ำในภาพรวม ได้กำหนดให้มีการลดและควบคุมการระบายมลพิษทางน้ำจากแหล่งกำเนิด ตรวจและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับแหล่งกำเนิดมลพิษ ปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานคุณภาพน้ำและมาตรฐานควบคุมมลพิษทางน้ำจากแหล่งกำเนิด สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดสร้างและเพิ่มศักยภาพระบบบำบัดน้ำเสียรวมของท้องถิ่น นำระบบอนุญาตการระบายมลพิษมาใช้ในการควบคุมการระบายมลพิษไม่ให้เกินศักยภาพในการรองรับของแหล่งน้ำ หน่วยงานอนุมัติ อนุญาตประกอบกิจการนำมาตรฐานการจัดการน้ำเสียไปใช้เป็นเงื่อนไขในการให้อนุญาต และจังหวัด อปท. ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในพื้นที่ของตนเองเพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยคุณภาพน้ำ สร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรของรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานงานในการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสียแบบบูรณาการ รวมทั้งรณรงค์ให้ช่วยฟื้นฟูแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลและชายฝั่ง" นายอรรถพล กล่าว