"อิสระ"ซัดเอ็กซิมเเบงก์ขาดทุนในรอบ 14 ปี แต่ผู้บริหารรับเงินเดือนบวกโบนัส 50 ล้าน ฝากมาตรการ "ตัด ติด ปิด เปิด” ช่วยเอสเอ็มอี ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารับทราบ รายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2563
นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า รายงานของเอ็กซิมแบงก์ หน้า27 เรื่องยุทธศาสตร์เหมือนจะมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ แต่ทำสวนทางกับคำพูด ที่ฟังไม่ขึ้น รับไม่ได้เลยคือ ผู้บริหารที่ทำให้ธนาคารขาดทุนครั้งแรกในรอบ14 ปี เมื่อปี2563 แต่กลับได้รับทั้งเงินเดือนโบนัส รวมเกือบ 50 ล้านบาท สวนทางกับชาวประมง ผู้ส่งอาหารทะเลระยอง นั่งร้องไห้เกาะเสากระโดงเรือ พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ลูกค้าอย่ายกเลิกออเดอร์สินค้า และมนุษย์เงินเดือนต้องลุ้น ว่าจะถูกลดเงินเดือน ให้ออกจากบริษัทหรือไม่ แต่คนนั่งในห้องแอร์ทำธนาคาร จะกำไรก็ช่าง ขาดทุนก็ช่าง ได้รางวัล 50 ล้านบาท 2ปีก่อนเคยเตือนเรื่องใช้คนเยอะเกินไป มาวันนี้ไม่ลดไม่ว่า กลับไปเพิ่มคนเป็น 880 คน คนร่วมพันคน คิดเป็นเงินเดือน ทั้งปีเกือบ 1,400ล้านบาท ตกเฉลี่ยคนละเกือบแสน ธนาคารอย่าอ้างเหตุผลเรื่องใช้คนทำงาน เพราะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีเอ็กซิมแบงก์ เขาบริหารสินทรัพย์ใหญ่กว่าเรา5เท่า แต่ใช้คนเพียงแค่ 515 คน
นายอิสระ กล่าวว่า อีกเรื่อง มีความเหลื่อมล้ำเรื่องสินเชื่อ ธนาคารรายงานว่า มีเงินให้สินเชื่อคงค้างกว่า 1.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.96 เปอร์เซ็นต์ เหมือนจะดี แต่พอดูรายละเอียดพบว่า เงินให้สินเชื่อส่วนใหญ่ เป็นสินเชื่อ3 กลุ่มคือ สาธารณูประโภค สินค้าอุตสาหกรรม และโทรคมนาคม เห็นแล้วเศร้าใจเลือกสนับสนุนแต่ยักษ์ใหญ่ ไม่สนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการกระดูกสันหลังเศรษฐกิจประเทศอย่าง ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรกร กระทรวงพาณิชย์อุตส่าห์ไปเปิดด่าน 46 ด่าน จาก97 ด่าน ดันยอดส่งออกให้สูงถึง1.8ล้านล้านบาท ไปทำข้อตกลงอาร์เซ็ปจนสำเร็จในยุคนี้ แต่ผู้ประกอบการต้องการได้รับการสนับสนุนเรื่องเงินทุนและการบริการประกันจากเอ็กซิมแบงก์ด้วย ตนเชื่อมือผู้บริหารชุดใหม่ ที่แถลงข่าวปลายปี 64 บอกเเนวคิดเรื่อง "เกิด แก่ เจ็บ ตาย" จะช่วยคนครบวงจร แต่ตนขอฝากมาตรการ “ตัด ติด ปิด เปิด” คือ ตัดลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น ติดอาวุธให้เอสเอ็มอีคือทุน โดยหาวิธีปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพเอาไว้ด้วย ท่านจะได้เปลี่ยนตัวเองจากหอคอยงาช้าง มาเป็นหอกระจายสินค้า เปลี่ยนจากไม้ซุงพยุงไม้ซีก เป็นลมใต้ปีกความหวังของเอสเอ็มอีไทยอย่างแท้จริง