"หมอธีระ"ชี้"ลองโควิด" มีไวรัสแฝงตามเซลล์ในระบบต่างๆ ของร่างกายติดเชื้อแบบยาวนานเรื้อรัง มักพบในผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ขัอความผ่านเพจ Thira Woratanarat ระบุว่า ตอนนี้ที่ทั่วโลกวิเคราะห์ว่าจะเป็นปัญหาท้าทายในอนาคตอันใกล้คือ ภาวะอาการคงค้างหลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เราทราบกันในชื่อว่า Long COVID เพราะงานวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะมีการติดเชื้อไวรัสที่แฝงตามเซลล์ในระบบต่างๆ ของร่างกาย และ/หรือ การเกิดภาวะอักเสบเกิดขึ้นในแต่ละระบบ จนทำให้เกิดอาการป่วยเรื้อรัง ทั้งระบบสมอง หัวใจและหลอดเลือด ทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ หรือแม้แต่ระบบต่อมไร้ท่อ
Long COVID นั้นเกิดได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรง คนที่ป่วยรุนแรงมักมีโอกาสเป็น Long COVID มากกว่า ผู้ใหญ่พบ Long COVID มากกว่าเด็ก หญิงมีโอกาสเป็น Long COVID มากกว่าชาย การป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดจึงสำคัญมาก และควรทำเป็นกิจวัตรใส่หน้ากากเสมอ อยู่ห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร เลี่ยงการกินดื่มร่วมกัน เลี่ยงการแชร์ของร่วมกัน ไม่ติดเชื้อย่อมปลอดภัยกว่า
รศ.นพ.ธีระ โพสต์ข้อความระบุด้วยว่า ด.ญ.อายุ 11 ปี ติดโควิด-19 แล้ว ยังมีอาการคงค้าง Long COVID โดยปวดท้องต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 เดือน ตรวจพบว่ามีการอักเสบของลำไส้ใหญ่เรื้อรัง และพบไวรัสในเยื่อบุลำไส้ สมมติฐานหนึ่งของ Long COVID คือ น่าจะมีไวรัสติดเชื้อแบบยาวนานเรื้อรังในระบบต่างๆ ของร่างกาย (Persistent SARS-CoV-2 infection) ดังนั้นการป้องกันตัวเคร่งครัดเป็นกิจวัตรจึงสำคัญมาก ไม่ติดย่อมดีที่สุด