"พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์" ละสังขารอย่างสงบสิริอายุ 95 ปี

2022-01-22 13:02:56

"พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์" ละสังขารอย่างสงบสิริอายุ 95 ปี

Advertisement

"พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์" ผู้นำทางจิตวิญญาณระดับโลก ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 95 ปี

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. เพจ  Thich Nhat Hanh  โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า  พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์  ได้ละสังขารอย่างสงบที่วัดตื่อฮิ้ว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม  เวลา 00:00 น. วันที่ 22  ม.ค.2565 ในวัย 95 ปี

สำหรับพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ เป็นพระภิกษุชาวเวียดนาม  ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้นำทางจิตวิญญาณที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ  เกิดเมื่อวันที่  11 ต.ค.2469 ที่ จ.กว๋างจิ ในภาคกลางของประเทศเวียดนาม ท่านมีชื่อเดิมว่า เหงวียน ซวน บ๋าว ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดตื่อฮิ้ว เมื่อปี 2485 ขณะมีอายุได้ 16 ปี และได้อุปสมบทเป็นพระในเวลาต่อมา 

ในปี พ.ศ. 2505 ท่านได้รับทุนไปศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ ณ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐฯ  ท่านได้ศึกษาที่นั่นเป็นเวลา 1 ปี แม้จะได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียต่อ แต่ท่านก็ตัดสินใจเดินทางกลับเวียดนาม เพื่อต่อตั้ง รร.ยุวชนรับใช้สังคม และทำงานด้านความร่วมมือระหว่างพระพุทธศาสนานิกายมหายานและเถรวาทในเวียดนาม ท่านพยายามสอนแนวคิดเรื่องพระพุทธศาสนาเพื่อการรับใช้สังคม เพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากสงคราม ท่านพยายามพัฒนาวงการสงฆ์ด้วยการสอนและเขียนในสถาบันพระพุทธศาสนาชั้นสูง ภารกิจที่สำคัญของท่านคือ ก่อตั้ง "คณะเทียบหิน" ในปี พ.ศ. 2509

ในปี พ.ศ. 2510 มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ได้เสนอชื่อของท่านให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยกล่าวว่า "ข้าพเจ้าไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัวอีกที่จะมีคุณค่าพอสำหรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นอกเหนือไปจากพระผู้มีเมตตาจากเวียดนามผู้นี้"


ด้านเพจ  หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ - สวนโมกข์กรุงเทพ  โพสต์ข้อความระบุว่า รำลึกถึงท่าน ติช นัท ฮันห์ (2469 - 2565) พระอาจารย์เซนชาวเวียดนาม ท่านได้ละสังขารอย่างสงบ เมื่อเช้าวันที่ 22 ม.ค. 2565 ที่ ณ วัดตื่อฮิ้ว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ท่านเป็นพระมหาเถระนิกายเซนผู้สนับสนุนให้พุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน คำสอนเรื่องสติและการดำรงอยู่ในปัจจุบัน เป็นคำสอนสำคัญ ท่านย้ำเตือนอยู่เสมอให้ทุกคนมีสติในทุกการกระทำ ทั้งการเดิน นั่ง นอน ยิ้ม เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2554 ท่านและนักบวชจากหมู่บ้านพลัมได้เมตตามาแสดงธรรมและนำปฏิบัติภาวนาตลอดวันที่สวนโมกข์กรุงเทพ (หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ) มีผู้สนใจเข้าร่วมงานกันอย่างเนืองแน่นตลอดวัน

ประวัติโดยย่อ

Thich Nhat Hanh เป็นนามทางธรรมที่ได้รับหลังการบวช

ติช : Thich ในเวียดนามใช้เรียกพระ มีความหมายว่าเป็นผู้สืบทอดพุทธศาสนา

นัท ฮันห์ : Nhat Hanh เป็นนามทางธรรมของท่าน มีความหมายว่า การกระทำเพียงหนึ่งเดียวซึ่งก็คือการเจริญสติ

ไถ่ : Thay เป็นภาษาเวียดนาม แปลว่า อาจารย์ ซึ่งศิษย์ต่างชาตินิยมเรียกท่านเช่นนั้น แต่ ศิษย์ชาวเวียดนามจะเรียกท่านว่า ซือองม์ : Su Ong ซึ่งอาจแปลเป็นไทยว่า หลวงปู่

- ปี พ.ศ. 2485 (ค.ศ.1938) บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา เมื่ออายุ 16 ปี ณ วัดตื่อฮิ้ว เมืองเว้ ท่านได้เรียนรู้การฝึกปฏิบัติสติภาวนา โดยมีหลักคำสอนของพระอาจารย์และวิถีชีวิตประจำวันของผู้บวชใหม่ อันเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตนักบวช

- ปี พ.ศ. 2492 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุ 23 ปี เดินทางไปไซ่ง่อนเพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนาและเขียนบทความ ทำให้ถูกต่อต้านจากผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลในระยะนั้น

- ปี พ.ศ. 2505 ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเพื่อศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ หลังจากนั้น 1 ปี ก็ได้รับทุนอีกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่ท่านตัดสินใจกลับเวียดนาม เพื่อสานต่อแนวคิดพุทธศาสนาที่รับใช้สังคม

- ปี พ.ศ. 2518 กำเนิดหมู่บ้านพลัม

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ได้สร้าง "สังฆะ" ชุมชนแห่งการฝึกปฏิบัติเพื่อดำเนินชีวิตอย่างมีสติของพุทธบริษัท 4 ด้วยความตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตก สังฆะแห่งแรกตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ชื่อว่า อาศรมมันเทศ (Sweet Potato Hermitage) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส จากนั้นได้ย้ายลงไปทางตอนใต้และตั้งชื่อสังฆะแห่งใหม่นี้ว่า หมู่บ้านพลัม (Plum Village) ตามชื่อต้นพลัมที่ปลูกอยู่ทั่วผืนดินแห่งนี้

ปัจจุบัน มีชุมชนการปฏิบัติธรรมแห่งหมู่บ้านพลัมกระจายอยู่ในหลายประเทศ อาทิประเทศฝรั่งเศส อเมริกา เยอรมัน ฮ่องกง และล่าสุดที่ประเทศไทยโดยมีนักบวชกว่า 500 รูป จาก 20 ประเทศทั่วโลก และมีกลุ่มปฏิบัติธรรมตามแนวทางหมู่บ้านพลัม หรือ “สังฆะ” เกือบหนึ่งพันกลุ่ม กระจายอยู่ใน 31 ประเทศทั่วโลก


วิถีการปฏิบัติที่ไม่แยกขาดจากสังคม

ชุมชนการปฏิบัติธรรมแต่ละแห่ง มีวิถีการฝึกปฏิบัติเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม และดำเนินชีวิตในวิถีที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยเลือกรับประทานอาหารมังสวิรัติ งดนมและผลิตภัณฑ์จากนม งดบริโภคไข่ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและลดมลภาวะต่างๆ ที่เกิดจากการเลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งยังมีการฝึกปฏิบัติ  "วันงดใช้รถ" หรือ Car Free Day เพื่อลดการใช้พลังงาน ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ การฝึกปฏิบัติเช่นนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วไป เพื่อช่วยกันเยียวยาโลกที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติทั้งสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและความรุนแรงในสังคม โดยเริ่มจากการฝึกสติตระหนักรู้ มีสันติในตนเอง ผ่านการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ผ่านการกระทำในชีวิตประจำวัน 

ขอบคุณที่มา  http://www.thaiplumvillage.org/, http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=700884

ขอบคุณเพจ Thich Nhat Hanh,หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ - สวนโมกข์กรุงเทพ