รู้จักโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
ผ่านการฉลองปีใหม่ได้ไม่นาน หลาย ๆ คนตั้งใจไว้ว่าจะทำกิจกรรมต่าง ๆ พบปะเพื่อนฝูง หรือเดินทางท่องเที่ยวที่ใหม่ ๆ แต่กลับมีข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน หรือที่เรียกกันว่า B1.1.529 lineage ระบาดมากขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลให้ในอังกฤษและสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยใหม่ เป็นหลักแสนหลักล้านทีเดียว ซึ่งในประเทศไทยนั้น สายพันธุ์นี้ก็ก่อให้เกิดสถิติผู้ป่วยใหม่มากขึ้นจังหวัด ก่อนหน้านี้ยังมีข้อมูลไม่มากว่าสายพันธุ์นี้จะเป็นอย่างไร รุนแรงไหม ฝ่าวัคซีนไหนได้บ้าง เราควรสังเกตอาการอย่างไรบ้าง วันนี้จะขอมัดรวมความรู้ล่าสุดเกี่ยวกับสายพันธุ์นี้กัน
โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน พบครั้งแรกที่ประเทศบอสวานา และต่อมาในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อเดือน พฤศจิกายน ปี 2564 ต่อมากลางเดือนธันวาคมพบว่าระบาดทั่วโลกและเป็นสายพันธุ์หลักในหลายประเทศ โดยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในโปรตีนหนามแหลมมากกว่า 30 ตำแหน่ง ทำให้เพิ่มการติดต่อแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น และหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่มีแต่เดิมในร่างกายจากวัคซีนที่ได้รับหรือการติดเชื้อครั้งก่อนได้
อาการของโอมิครอน
อาการมักจะมาเร็ว ภายใน 1-3 วันหลังจากได้รับเชื้อ มักมีไข้ เจ็บคอ ไอแห้ง ๆ เหนื่อยอ่อนเพลีย คลื่นไส้ และเมื่อยตามตัวมาก หลายคนมีเหงื่ออกมากโดยเฉพาะกลางหลัง และมีอาการปวดบริเวณหลังและบั้นเอว โดยอาการที่พบน้อยลงเทียบกับสายพันธุ์อื่น ๆ คือ อาการท้องเสีย การรับรสผิดปกติ การไม่ได้กลิ่นหรือรับกลิ่นผิดปกติ
โอมิครอนแพร่เชื้อและแบ่งตัวได้มากขนาดไหน
โอมิครอนแพร่เชื้อได้เร็วที่สุดตั้งแต่มีการกลายพันธุ์มา หากมีคนหนึ่งที่ติดโอมิครอนเข้ามาในบ้านที่มีคนอยู่ร่วมกัน 10 คน อาจทำให้คนในบ้านติดได้ประมาณ 2 คน แม้ว่าจะได้รับวัคซีนครบแล้ว โดยจากการศึกษาในอังกฤษพบว่า เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้าแล้ว สายพันธุ์โอมิครอนสามารถติดคนในบ้านได้มากกว่าถึง 2 เท่า โดยที่สายพันธุ์เดลต้าอาจติดคนในบ้านได้รัอยละ 8 ขณะที่โอมิครอนได้ถึงร้อยละ 19
โอมิครอนตรวจเจอได้ยากไหม
หนึ่งในการกลายพันธุ์ในโปรตีนของโอมิครอนทำให้การตรวจหาสารทางพันธุกรรม (ยีน) อาจไม่เห็นโปรตีนหนาม แต่การตรวจส่วนใหญ่ที่เป็นมาตรฐานยังคงดูยีนหลายตัว ดังนั้น ยังคงสามารถตรวจพบได้ และการที่ไม่พบโปรตีนหนามอาจเป็นการช่วยทำให้เกิดการสงสัยว่าเป็นเชื่อโอมิครอนได้ตั้งแต่ต้น ทำให้การป้องกันเป็นไปได้ สำหรับการตรวจแอนติเจน หรือการใช้ชุดตรวจเร็วแบบเอทีเค (ATK) เป็นการตรวจที่นิวคลีโอแคปสิดโปรตีน ดังนั้นจึงไม่ได้มีผลกับการหลบภูมิคุ้มกันของโปรตีนหนามแต่อย่างใด
หลบภูมิได้มากขนาดไหน
จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่า โอมิครอนหลบภูมิคุ้มกันได้มากกว่าทำให้คนที่เคยเป็นโควิดสายพันธุ์อื่นมาก่อนมีโอกาสติดซ้ำ การศึกษาในแอฟริกาใต้ที่กำลังจะตีพิมพ์พบว่า การติดเชื้อซ้ำหลังจากหายไปแล้ว 90 วันมีมากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 2 เท่า และยังมีการค้นพบว่าโอมิครอนหลบการรักษาด้วยยา casiriviamab-imdevimab ซึ่งเราเรียกว่าเป็นยาต้านไวรัสคอคเท็ลที่ขณะนี้มีใช้ในประเทศไทยด้วยได้ ในขณะที่ยาอีกตัวหนึ่ง คือ Sotrovimab สามารถจับกับโอมิครอนได้ แต่ระดับการทำลายเชื้อยังต่ำกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างไรก็ดียังคงต้องรอผลงานที่ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการต่อไป
โอมิครอนรุนแรงไหม
มีรายงานว่าโอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าสายพันธ์ก่อนหน้านี้ โดยทั่วไปมักไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย โดยเฉพาะคนที่รับวัคซีนแล้ว แต่ยังมีกลุ่มที่เกิดปอดอักเสบติดเชื้อได้โดยมักเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับหรือปฏิเสธวัคซีน อย่างไรก็ตามยังต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว ภูมิคุ้มกันต่ำ และมีโรคอ้วน
ป้องกันอย่างไรดี
1.ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสพื้นผิวสาธารณะ โดยมีการศึกษาพบว่าไวรัสสามารถอยู่ในผิวหนังได้ประมาณ 9 ชั่วโมงที่ไมได้ทำความสะอาด แต่หากใช้แอลกอฮอล์เข้มข้นร้อยละ 80 จะทำลายได้ใน 15 วินาที
2.ทำความสะอาดพื้นผิดและสิ่งของที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน
3.รักษาระยะห่างจากผู้อื่นประมาณ 1.5-2 เมตร
4.สวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปที่ชุมขน ควรใช้แล้วทิ้ง และเปลี่ยนอย่างน้อยวันละครั้ง ไม่ควรใช้ซ้ำ หากใช้หน้ากากผ้าในชุมชนควรเลือกที่มีผ้าทอแบบถี่และหลายชั้น ซักให้สะอาดและผึ่งให้แห้งหากต้องใช้ซ้ำ ควรสวมหน้ากากให้แนบกับหน้าโดยไม่มีร่องเปิด ที่สำคัญคือไม่ควรใส่หน้ากากที่มีวาล์วที่ระบายอากาศออก (exhalation valve)
5.เลี่ยงการกินอาหารร่วมกัน
6.หลีกเลี่ยงการจับบริเวณใบหน้า ตา ปาก จมูก
7.เลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์ เนื่องจากจะทำให้เกิดการสัมผัสตาบ่อยขึ้น (ตามคำแนะนำของสมาคมหมอตาของอเมริกา; American Academy of Ophthamology)
8.ใช้มาตรการควบคุมโรคติดเชื้อในสถานพยาบาล สถานที่ทำงาน สวนสาธารณะ ห้างร้านต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด
9.รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อตนเองและคนรอบข้าง
หากมีอาการผิดปกติสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 ควรตรวจด้วยชุดตรวจเร็ว ATK หรือพบบุคลากรทางการแพทย์ที่จุดตรวจโรคทางเดินหายใจอย่างรวดเร็ว ระหว่างรอผลควรกักตัว ไม่พบปะผู้อื่น หรือเดินทางไปในที่สาธารณะ หากมีความเสี่ยงสูงมากอาจมีความจำเป็นต้องตรวจซ้ำ
อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล