นิตยสารฉลาดซื้อ เปิดผลสำรวจ คน กทม.ซืี้อของฝาก เลือกขนม ของทานเล่น เป็นอันดับ 1 รองลงมา คือ อาหารแห้ง ของชำร่วย เผยของฝากสุดฮิตภาคเหนือน้ำพริกหนุ่ม แหนมเนืองอีสาน ขนมเปี๊ยะภาคตะวันออก ขนมเค้กภาคกลาง ทองหยิบทองหยอดภาคตะวันตก และปลาหมึกแห้งภาคใต้ แต่ไม่ถึงครึ่งที่ดูวันเดือนปีหมดอายุ
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคน กทม. โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ใน กทม. จำนวนทั้งสิ้น 1,271 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28 - 30 พ.ย. 2560 ผศ.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า การซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคน กทม. ให้กับญาติสนิท มิตรสหาย พบว่า อันดับ1 คือ ขนม ของทานเล่น ร้อยละ 26.6 อันดับ 2 อาหารแห้ง ร้อยละ 26.0 อันดับ 3 ของชำร่วย พวงกุญแจ ร้อยละ 24.4 อันดับ4 เครื่องแต่งกาย ร้อยละ 23.0 และอันดับ 5 ผักสด ผลไม้สด ร้อยละ 20.9
ของฝากจากภาคเหนือ อันดับ 1 คือ น้ำพริกหนุ่ม ร้อยละ 36.1 อันดับ 2 แคบหมู ร้อยละ 29.7 อันดับ 3 หมูยอ ร้อยละ 25.0 อันดับ 4 ไส้อั่ว ร้อยละ 24.6 และอันดับ 5 ใบชา ร้อยละ 18.3
ของฝากจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันดับ 1 แหนมเนือง ร้อยละ 34.7 อันดับ 2 หมูยอ ร้อยละ 29.4 อันดับ 3 กุนเชียง ร้อยละ 26.9 อันดับ 4 แหนม ร้อยละ 19.7 และอันดับ 5 น้ำพริก ร้อยละ 18.3

ของฝากจากภาคตะวันออก อันดับ1 ขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 29.1 อันดับ 2 ข้าวหลาม ร้อยละ 27.5 อันดับ 3 อาหารทะเลแห้ง ร้อยละ 26.3 อันดับ 4 ผลไม้อบแห้ง ร้อยละ 21.6 และอันดับ 5 น้ำปลา ร้อยละ 17.5
ของฝากจากภาคกลาง อันดับ 1 ขนมเค้ก ร้อยละ 27.3 อันดับ 2 สายไหม ร้อยละ 27.1 อันดับ 3 โมจิ ร้อยละ 26.8 อันดับ4 กะหรี่พัฟ ร้อยละ 22.0 และอันดับ 5ขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 21.9

ของฝากจากภาคตะวันตก อันดับ1 ทองหยิบทองหยอด ร้อยละ 27.7 อันดับ 2 ขนมหม้อแกง ร้อยละ 27.6 อันดับ 3 ขนมชั้น ร้อยละ 25.3 อันดับ 4 ขนมปังสัปปะรด ร้อยละ 23.4 และอันดับ 5 มะขามสามรส ร้อยละ 19.7
ของฝากจากภาคใต้ อันดับ1 ปลาหมึกแห้ง ร้อยละ 32.5 อันดับ 2คือกะปิ ร้อยละ 29.3 อันดับ 3 กุ้งแห้ง ร้อยละ 24.2 อันดับ 4 น้ำพริก ร้อยละ 22.3 และอันดับ 5 เครื่องแกง ร้อยละ 21.3
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีการตรวจดูวันเดือนปีที่หมดอายุ ร้อยละ 44.8 รองลงมาไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 35.4 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 19.8 และมีการตรวจดูสถานที่ผลิต ร้อยละ 44.8 รองลงมาไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 34.2 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.0 ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 54.8 รองลงมาไม่แน่ใจ ร้อยละ 28.8 และเคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 16.4
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ฉลากเป็นสิ่งจำเป็นและผู้บริโภคไม่ควรละเลยที่จะตรวจสอบข้อมูลที่แสดงบนฉลากก่อนการตัดสินใจซื้อ หากเป็นสินค้าที่ไม่มีฉลาก ฉลากไม่เป็นภาษาไทยควรหลีกเลี่ยง ที่ผ่านมาเคยมีข้อมูลผลทดสอบเรื่องความไม่ปลอดภัยของของฝากกลุ่มอาหารอยู่บ้าง เช่น เมื่อปี 2559 ว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจน้ำพริกพร้อมบริโภค เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้าสับ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกนรก แจ่วบอง จาก 1,071 ตัวอย่าง ไม่ผ่านมาตรฐาน 164 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 15 ส่วนใหญ่พบปัญหาเรื่องการใช้วัตถุกันเสียเกินปริมาณที่อนุญาต การปนเปื้อนจุลินทรีย์และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ