อดีตนายกรัฐมนตรี “อานันท์ ปันยารชุน”ยกย่อง “หมอสงวน” คือ รัฐบุรุษผู้สร้างหลักประกันสุขภาพของไทย
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กทม. นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน “งานกับอุดมคติของชีวิต” ในโอกาสครบ 10 ปี การจากไปของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ โดยกล่าวต่อนหนึ่งว่า คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ คือ รัฐบุรุษผู้สร้างหลักประกันสุขภาพของไทย เพราะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดจาก คุณหมอสงวน ได้ทุ่มเททั้งชีวิต ศึกษาวิจัย ออกแบบระบบ ผลักดันนโยบายอย่างมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ จนเกิดเป็นกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2545 ทำให้คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน และมีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยทำให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการเมื่อยามจำเป็น ครัวเรือนไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยรัฐบาลเป็นผู้ใช้เงินภาษีของประชาชน เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับคนไทยทุกคน ประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 พึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ส่งทีมงานเข้ามาเรียนรู้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในประเทศไทยอย่างมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ยังมีความท้าทายที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่คุณหมอสงวนได้วางรากฐานไว้แล้ว คือ เราจะสร้างความยั่งยืนให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้อย่างไรภายใต้การเปลี่ยนแปลงจากหลายปัจจัย เช่น สังคมผู้สูงอายุที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆที่มีราคาแพงและอาจช่วยทำให้คนอายุยืนขึ้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันหาแนวทางเพื่อให้ประเทศสามารถจัดการกับความท้าทายดังกล่าวได้
นายอานันท์ กล่าวด้วยว่า แนวทางหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาความท้าทาย ดังกล่าว คือ การนำแนวทางตามพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศ การเสริมสร้างความเข้มแข้งของบริการปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ เช่น รพ.ชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และคลินิกชุมชนอบอุ่นของเอกชน ที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือการนำแนวคิดจิตอาสา มิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อนผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย คนเมื่อเจ็บป่วยย่อมต้องการคนที่เข้าใจ และต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตัวจากประสบการณ์จริงของเพื่อนคนไข้ด้วยกัน เพราะการมีเพื่อนที่มีประสบการณ์หรือประสบปัญหาเดียวกันช่วยเหลือกัน ให้ข้อมูลกัน เป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วย และครอบครัวสามารถยืนหยัดสู้กับโรคภัยได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งช่วงท้ายชีวิตของคุณหมอสงวน ได้พยายามพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งในระบบบริการสุขภาพของไทย

นายอานันท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ย้ำต่อว่า “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการดำเนินงานจิตอาสา มิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย ยังคงต้องดำเนินต่อไป แม้จะมีอุปสรรคบ้าง รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องสนับสนุนให้ดำเนินต่อไป เพราะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างสุขภาพให้กับประชาชน เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงเป็นกำลังของการพัฒนาประเทศ ความเจริญของประเทศไม่ว่าด้านเศรษฐกิจหรือสังคม จะเติบโตได้ย่อมต้องเกิดจากประชาชนที่มีสุขภาพแข็งแรง มีจิตใจอาสาสมัครช่วยเหลือกัน สังคมก็จะมีความสงบสุข”