คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน กทม. ผนึก 6 หน่วยงานพัฒนาระบบสุขภาพคนกรุง เผยชาย กทม.อ้วนสูงสุด ออกกำลังกาย กินผักน้อย รองผู้ว่าฯตั้งเป้าพลเมืองปลอดโรคคนเมือง อาหารปลอดภัย ปลอดอุบัติเหตุ
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 13 โดยความร่วมมือของ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กทม.กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพพื้นที่ กทม. เพื่อระดมความเห็นถึงแนวทางพัฒนาระบบสุขภาพใน กทม.
นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า การพัฒนาระบบสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จึงมีคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และในอนาคตอันใกล้นี้จะมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต(พชข.)อีก 50 เขต เพื่อทำงานเชื่อมโยงกัน โดย กทม.ได้ตั้งเป้าหมายปลอดโรคยอดฮิตของคนเมือง ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ปัญหาสุขภาพจิต ทั้งการฆ่าตัวตาย ความเครียด โรคซึมเศร้า รวมถึงโรคติดต่อจากไข้เลือดออกและวัณโรค และโรคในผู้สูงอายุ มีอาหารปลอดภัยสำหรับการบริโภค และมีความปลอดภัยทางถนน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับมหานครแห่งอื่นๆทั่วโลก
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผอ.สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. ในฐานะคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 13 กล่าวว่า พฤติกรรมสุขภาพที่น่าสนใจของคน กทม. จากข้อมูลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประชากร กทม. ในปี 2560 พบว่า โรคที่น่าจับตาของคน กทม. จากการเข้ารักษาโดยใช้สิทธิบัตรทองย้อนหลัง 2 ปี อันดับ 1 คือ โรคความดันโลหิตสูง 2.ความผิดปกติทางเมตะบอลิก 3.เบาหวาน 4.ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน และ 5.โรคข้อ และยังพบว่าคน กทม.ออกกำลังกายน้อยกว่าคนภาคอื่นๆ แต่มีสัดส่วนคนไม่สูบบุหรี่และดื่มสุราค่อนข้างสูง โดยคนที่สูบบุหรี่ ประมาณ 20% เคยได้รับการปรึกษาเรื่องลด ละ เลิก บุหรี่ นอกจากนี้จากผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ระหว่างปี 2557-2558 พบว่า ผู้ชายใน กทม.มีภาวะอ้วนสูงสุด ขณะที่ผู้หญิงมีสัดส่วนไม่ต่างกับผู้หญิงในภูมิภาคอื่นๆ คน กทม.บริโภคผักและผลไม้อย่างเพียงพอต่อวันเพียง 22% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุดรองจากภาคเหนือ 13% ส่วนความชุกของโรคความดันโลหิตสูงอยู่ที่ 23% และโรคเบาหวาน อยู่ที่ 8%
นพ.ชาญวิทย์ กล่าวต่อว่า การพัฒนาระบบสุขภาพพื้นที่ กทม. จึงมีแนวทางที่สำคัญ 4 ประเด็น คือ 1. การพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพ กทม. เพื่อเห็นภาพรวมของปัญหาสุขภาพคน กทม.สำหรับจัดทำแผนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาสุขภาพจริง 2. การมีระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่กระจายตัวครอบคลุมเขตพื้นที่ที่ยังไม่มีสถานบริการสุขภาพ 3.การลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ทั้งการบริโภคผักผลไม้ที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายน้อย ส่งผลให้เกิดโรคติดต่อไม่เรื้อรัง และ 4. การลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งจะมีการวางแนวทางการปฏิบัติผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ร่วมกัน