สธ.ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" 740 ราย ใน 33 จังหวัด เป็นผู้ติดเชื้อเดินทางจากต่างประเทศ 489 ราย และติดเชื้อในประเทศ 251 ราย ย้ำหน้ากากผ้ายังป้องกันได้
เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์โควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่า ขณะนี้มีรายงานพบสายพันธุ์โอมิครอนใน 108 ประเทศ โดยสหรัฐอเมริกาตรวจพบแล้วทุกรัฐ ส่วนสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนพบ 3 สายพันธุ์ สำหรับประเทศไทยตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ตรวจหาสายพันธุ์แล้วประมาณ 8 พันกว่าตัวอย่าง พบสายพันธุ์โอมิครอนสะสม 740 ราย ใน 33 จังหวัด กระจายเกือบทุกเขตสุขภาพ ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 2 (พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตาก) โดยพื้นที่ที่ตรวจพบโอมิครอนมากที่สุด คือ กทม. ตามด้วยเขตสุขภาพที่ 7 และเขตสุขภาพที่ 11 แยกเป็น ผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ 489 ราย และติดเชื้อในประเทศ 251 ราย ใน 19 จังหวัด ซึ่งเป็นการติดเชื้อจากการสัมผัสผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยคลัสเตอร์ใหญ่ที่สุดคือ กาฬสินธุ์ พบผู้ติดเชื้อ 200 กว่าราย ผู้ติดเชื้อทั้งหมดมีการตรวจยืนยันด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวแล้ว 104 ราย
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา (27-28 ธ.ค. 2564) พบว่า สัดส่วนของสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว ขณะนี้พบประมาณ 66% แต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยมีเชื้อโอมิครอนแล้ว 66% เนื่องจากตัวอย่างที่สุ่มตรวจส่วนใหญ่เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและผู้ที่มีประวัติสัมผัสผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีการแพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้การตรวจใน 2 กลุ่มนี้พบสัดส่วนของโอมิครอนสูงมากตามไปด้วย แต่ในภาพรวมช่วง 2 วันที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทั้งหมด 5 พันกว่ารายตรวจพบสายพันธุ์โอมิครอน 200 กว่าราย คิดเป็นประมาณ 5-6% ดังนั้น การแพร่ระบาดในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์เดลตา
“กรณีหน้ากากผ้าใช้ป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้ ข้อเท็จจริงคือ แม้จะใช้หน้ากาก N95 แต่ถ้าใส่ไม่ถูกต้องก็ป้องกันไม่ได้ 100% ทั้งนี้ เชื้อสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้มีขนาดเล็กลงและยังออกมากับละอองฝอยน้ำมูกน้ำลายที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ 5-6 ไมครอน ไม่แตกต่างจากเชื้อสายพันธุ์เดิม การใช้หน้ากากผ้าซึ่งป้องกันสายพันธุ์อัลฟา เบตา และเดลตาได้ จึงสามารถป้องกันโอมิครอนได้เช่นกัน สิ่งสำคัญต้องใส่ให้ถูกวิธี คือ ใส่ให้แนบกระชับกับใบหน้า” นพ.ศุภกิจ กล่าว