“ไพบูลย์” เสนอ 3 ประเด็น แก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ยกเว้นใช้ “ไพรมารี่โหวต” ลดเหลื่อมล้ำ
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชน กล่าวถึง การเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องการจ่ายเงินทุนประเดิมคนละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท และเงินบำรุงพรรค ตามหนังสือที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า มีหลายคนออกมาบิดเบือน ว่าเป็นการเสนอเพื่อให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป กล่าวหาว่าตนจะแก้ไขประเด็น ส.ส.ไม่ให้สังกัดพรรคการเมืองบ้าง ซึ่งไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ ตนเห็นว่าหากมีการแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ควรพิจารณาแก้ไขใน 3 ประเด็น คือ 1.ความเหลื่อมล้ำระหว่างสมาชิกพรรคที่ต้องชำระและไม่ต้องชำระค่าบำรุงพรรค แต่มีสิทธิเท่าเทียมกัน ทำให้เกิดสมาชิกพรรคสองมาตรฐาน เพราะมาตรา 140 และ 141(5) รับรองให้สมาชิกพรรคที่มีอยู่เดิม ให้มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคต่อไป โดยไม่ต้องชำระค่าบำรุงพรรค 4 ปี ขณะที่พรรคที่ตั้งใหม่ต้องชำระทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1,000 บาท 2.สมาชิกพรรคเดิม ที่จัดตั้งตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 ส่วนใหญ่เกิดจากการรวบรวมรายชื่อมาเป็นสมาชิกพรรค หลายกรณีพบว่าเจ้าตัวไม่รู้ว่าถูกแอบอ้างชื่อไปเป็นสมาชิกพรรค แต่พ.ร.บ.ฉบับใหม่ไปเหมารวมรับรองให้มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องแสดงเจตจำนงจะเป็นสมาชิกพรรคเดิมต่อไป 3.แบบฟอร์มการยื่นของจัดตั้งพรรคใหม่มีความยุ่งยาก ต้องเขียนข้อมูลส่วนตัวละเอียดเกินความจำเป็น อาทิ ข้อมูลบิดา มารดา คู่สมรส บุตร ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิร่วมกันจัดตั้งพรรค ทำให้มีขั้นตอนยุ่งยากและเสียเปรียบสมาชิกพรรคเดิม
"เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นทันในเดือน พ.ย.61 ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ต่อสาธารณะ เห็นควรแก้ไขให้งดเว้นการบังคับใช้ในส่วนเงื่อนไขที่เป็นภาระแก่พรรคการเมือง โดยเฉพาะเงื่อนไขที่มีเวลาจำกัดจนเป็นอุปสรรค ในการที่พรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ จะดำเนินการเข้าสู่การเลือกตั้งทันในเดือน พ.ย.61 ได้แก่ ควรแก้ไขให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ยกเว้นการบังคับใช้ระบบไพรมารี่โหวตไว้ก่อน โดยให้กรรมการบริหารพรรคที่เลือกจากที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกพรรค ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ และให้ยกเว้นการกำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีสมาชิก และจัดตั้งสาขาพรรค และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดจึงส่งผู้สมัครส.ส.ได้ "นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้ คสช.ทำหน้าที่รักษาความสงบไปจนกว่า กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง โดยไม่กระทบกับการเลือกตั้ง ในเดือน พ.ย.61 ควรกำหนดให้การประชุมของสมาชิกพรรค และกรรมการบริหารพรรค เพื่อดำเนินการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ดำเนินการได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช ที่ 57/2557 และคำสั่งที่ 7/2557 และให้คำสั่ง คสช.ทั้ง 2ฉบับสิ้นผลไปเมื่อ กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. โดยตนจะทำหนังสือเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและประธาน สนช.ภายในสัปดาห์นี้