โรคสมองเสื่อม
โรคสมองเสื่อม คือ การที่สมองมีการทำงานแย่ลงจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน จนในที่สุดผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยสาเหตุที่พบบ่อยมี 2 ชนิดคือ
-โรคสมองเสื่อมจากความเสื่อมของสมองโดยตรง หรือโรคอัลไซเมอร์
เกิดจากความเสื่อมของสมองโดยตรง ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยอาการของโรคจะเป็นแบบค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปจนมีอาการมากขึ้น
-โรคสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมองผิดปกติ
เกิดจากโรคต่าง ๆ ทั้งโรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง พาร์กินสัน ทำให้เส้นเลือดเล็ก ๆ ในสมองแตก หรือตีบตัน ส่งผลให้สมองส่วนนั้นไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้สมองส่วนความคิด ความจำ และการรับรู้เสียไปด้วย
สิ่งที่คนมักเข้าใจผิด
ขี้ลืม กับ หลงลืม นั้นต่างกัน
อาการขี้ลืมเกิดจากการที่เราไม่มีสมาธิในการจำ ถือเป็นนิสัย ไม่ใช่โรค แต่ผู้ป่วยที่มีอาการหลงลืม มักมีอาการเด่น ๆ คือไม่สามารถจดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ ถึงแม้ว่าจะได้รับการบอกซ้ำหรือทำซ้ำหลายครั้งแล้วก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับความสามารถสมองเดิมของผู้สูงอายุรายนั้น ๆ
ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมมักไม่ทราบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติ คนรอบข้างจึงต้องคอยสังเกตให้ดี โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพราะยิ่งอายุมาก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมากขึ้น ดังนั้นหากพบว่าตนเอง หรือคนรอบข้างมีปัญหาเรื่องความจำ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพราะหากตรวจพบโรคและรักษาตั้งแต่เริ่มแรก ก็จะช่วยชะลอความรุนแรงของโรคให้ช้าลงได้ ส่วน การใช้งานสมองบ่อย ๆ ในทางที่ไม่เครียด ทั้งนี้ การจัดระเบียบความคิดและความจำ ก็สามารถช่วยยืดอายุสมองให้เสื่อมช้าลงได้เช่นกัน
ผศ.พญ.อรพิชญา ศรีวรรโณภาส
สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล