"จุรินทร์"หาเสียงสงขลามั่นใจ ปชช.เชื่อมั่น ปชป. มากขึ้น

2021-12-26 13:39:49

"จุรินทร์"หาเสียงสงขลามั่นใจ ปชช.เชื่อมั่น ปชป. มากขึ้น

Advertisement

"จุรินทร์"นำทีมรณรงค์หาเสียงสงขลา เขต 6 ชูเบอร์ 1  มั่นใจคนสงขลาภาคใต้กลับมาให้ความนิยมเชื่อมั่น ปชป. มากขึ้น

เมื่อวันที่  26 ธ.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  (ปชป.) รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ พร้อมด้วย นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย นายเดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรค ที่ดูแลภาคใต้ นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ นายสุรเชษฐ์ มาศดิษฐ์ อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช และผู้สมัคร ส.ส. เขต 6 เบอร์ 1 สุภาพร กำเนิดผล ร่วมกันพบปะคณะครู และพี่น้องประชาชน ในการหาเสียงเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 6 จ.สงขลา ที่โรงเรียนพะตงวิทยามูลนิธิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

หลังจากนั้นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงลงพื้นที่รณรงค์หาเสียงที่ จ.สงขลาตั้งแต่วานนี้ ว่า ชาวสงขลาหันมาตอบรับกระแสพรรคประชาธิปัตย์มากขึ้น และเห็นได้ชัดเจนจากการที่มีคนเดินทางมาฟังการปราศรัยในคืนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเยอะมาก 4 – 5,000 คน เดี๋ยวนี้โอกาสที่จะเห็นคนเยอะขนาดนี้ มีไม่บ่อยนักเพราะสังคมเปลี่ยนแปลงไป แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนได้สะท้อนให้เห็นว่า คนสงขลาหันมาตอบรับพรรคประชาธิปัตย์มากขึ้น ตนมั่นใจว่าการทำหน้าที่ผู้อำนวยการเลือกตั้ง สงขลา เขต 6 ของ นายเดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคภาคใต้คนใหม่ จะสามารถทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถปักธงในเขต 6 ได้ ทุกคนก็มั่นใจ ตัวผู้สมัครเองก็มีศักยภาพ ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้รับความนิยม ได้รับความมั่นใจและเชื่อมั่นมากขึ้นใน จ.สงขลา ซึ่งตนก็รวมทั้งภาคใต้ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่าคนในพื้นที่ต้องการเห็นพรรคประชาธิปัตย์มีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่นั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า เฉพาะในเขต 6 ที่มีการเลือกตั้งซ่อม มีประเด็นปัญหาใหญ่ 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือพืชผลการเกษตรโดยเฉพาะยาง และปาล์ม แต่ยางจะมีมากกว่า ซึ่งขณะนี้ชาวสวนยาง ชาวสวนปาล์มพอใจมาก เพราะราคายาง ราคาปาล์มสูงมาก ปาล์มจากราคา 2 บาทกว่าตอนประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ๆ ตอนนี้ไปเกือบ 10 บาท บางช่วงถึง 10 บาท สำหรับยางก้อนถ้วย หรือขี้ยาง จากราคา 10-11 บาท ตอนนี้ราคาไปถึง 24-25 บาท น้ำยาง ราคา 50 กว่าบาทแล้ว ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกรชาวสวนยางพอใจ ส่วนปาล์มนั้น จาก 2 บาทกว่าก็ไป 9-10 บาท ประเด็นที่หนึ่งที่ชาวบ้านอยากเห็นประชาธิปัตย์เข้ามาช่วยดูแลให้มีความต่อเนื่อง เรื่องที่ 2 คือเรื่องการค้าชายแดน ต้องถือว่าปาดังเบซาร์เป็นจุดสำคัญ และเป็นด่านสำคัญที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของชายแดนไทย-มาเลเซีย รองจากสะเดา การค้าของด่านปาดังนั้น เฉพาะส่งออกอย่างเดียวเราส่งออกไปมาเลย์ ใช้ด่านนี้ด่านเดียวแสนล้าน เฉพาะ 11 เดือนที่ผ่านมา และเรานำเข้ามา 50,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นได้ดุลมากสำหรับด่านปาดัง ได้ดุลถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นด่านที่ทำกำไร เพียงแต่เราส่งออกไปได้เฉพาะสินค้าเป็นหลัก นักท่องเที่ยวยังไม่สามารถเดินทางเข้าออกได้ ซึ่งถือเป็นภารกิจของเราต่อไปที่จะต้องช่วยดำเนินการ ถ้าคุณสุภาพร กำเนิดผล ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทน สิ่งนี้ก็เป็นภารกิจที่จะต้องเข้าไปช่วยประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่จะต้องทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางข้ามไปมาได้ต่อไป ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลการเลือกตั้งทั้งสงขลา และชุมพร จะเป็นตัวชี้วัดประชาธิปัตย์ในอนาคตเกี่ยวกับภาคใต้หรือไม่นั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ก็คงเป็นเขตเลือกตั้งหนึ่ง แต่อย่างน้อยก็มีผลกระทบกระเทือนถ้าเราได้รับเลือกตั้ง ก็จะช่วยส่งผลต่อขวัญกำลังใจในการทำงานในเขตอื่นๆ ไปด้วย แต่ที่ผ่านมาต้องถือว่าสงขลานั้น เสียงตอบรับดีขึ้นดูได้จากการเลือกตั้งนายกอบจ. สงขลา เราได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เพียงแต่การเลือกตั้งทั่วไปมันเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองซึ่งทุกคนทราบดีกันอยู่แล้ว หลายจังหวัดก็กระทบอย่างสงขลาจากผู้แทน 8 คนเราได้เหลือ 3 คน เพราะฉะนั้นมันก็มีผลกระทบ แต่พอหลังจากนั้นนายก อบจ. เราก็ชนะ แสดงว่าพี่น้องชาวสงขลายังให้โอกาสประชาธิปัตย์

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเลือกตั้งซ่อมที่เขตหลักสี่ มีพรรคการเมืองหลายพรรคเปิดตัวผู้สมัครแล้ว แนวโน้มการส่งตัวผู้สมัครของประชาธิปัตย์มีแนวโน้มจะส่งหรือไม่ หรือต้องการรักษามารยาททางการเมืองซึ่งเป็นจุดยืนที่พรรคเรียกร้องมาตลอด หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เราพูดกันไปแล้วและตนก็เคยยืนยันว่าจะไม่ขอย้อนกลับไปพูดถึงอีกเพราะว่ามันไม่มีความจำเป็นอะไร หรือมีประโยชน์อะไรที่จะไปพูดทุกวัน แต่สำหรับการเลือกตั้งซ่อมนั้นพรรคจะพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะว่าไม่ได้แปลว่ามีเลือกตั้งซ่อมที่ไหน ประชาธิปัตย์ก็ต้องลงไปแข่งที่นั่นเสมอไป เราก็ดูเป็นจุดๆ เป็นที่ๆ ไป บางพื้นที่เราไม่ได้ส่งก็มี บางพื้นที่เราส่งก็มี

ผู้สื่อข่าวถามว่าการแสดงออกประชาธิปัตย์จะสะท้อนให้พรรคร่วม หรือพรรคการเมืองอื่นมีมารยาททางการเมืองมากขึ้นหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องถามพรรคการเมืองแต่ละพรรค เราไม่อยู่ในฐานะที่จะไปตอบแทนเขาได้ แต่เราก็เคยมีแนวทางของเราในขณะที่เราเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลในอดีต เมื่อเราเป็นแกนตั้งรัฐบาล เราก็คุยกันในบรรดาพรรคร่วมกันว่าถ้ามีที่นั่งว่างที่ไหนเป็นของใครในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลก็ให้พรรคนั้นเป็นผู้ส่งเพื่อรักษาเก้าอี้ รักษาที่นั่งไว้ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันก็จะไม่ลงแข่ง ซึ่งเป็นแนวที่เราเคยปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลด้วยกัน เพราะไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหนจะได้รับเลือกตั้ง ก็ไม่ทำให้เสียง ที่นั่งของรัฐบาลด้วยกันเพิ่มขึ้นมา แต่เมื่อแนวทางนี้ดูเหมือนจะถูกลบเลือนไปก็สุดแล้วแต่ แต่ละพรรคการเมืองที่จะเป็นผู้พิจารณา

ต่อข้อถามว่า ล่าสุดพรรคเพื่อไทยมีความเห็นว่า เสถียรภาพรัฐบาลปี 65 ดูง่อนแง่นใน 5 ประเด็น มองอย่างไรในเรื่องนี้ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะฝ่ายค้านมีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล และเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลในทางการเมือง เพราะฉะนั้นจะให้ฝ่ายค้านพูดบวกให้รัฐบาลก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะต้องชี้แจงในมุมบวกกับรัฐบาลว่าความจริงแล้วเป็นอย่างนั้นหรือไม่ หรือไม่เป็นอย่างนั้นด้วยเหตุผลอะไร อันนี้ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของคนที่มีหน้าที่ รวมทั้งโฆษกรัฐบาลที่จะต้องชี้แจงว่าเป็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นหรือไม่น่า นายจุรินทร์ ตอบว่า ก็อาจจะใช่บ้าง ไม่ใช่บ้าง ในส่วนของตนนั้นคิดว่าสภาพปัญหาจากปี 64 ที่ผ่านมาก็ยังคงดำรงอยู่อย่างน้อยใน 3 เรื่อง ทั้ง โควิด เศรษฐกิจ การเมือง ตนคิดว่าคงไม่หมดไปเสียทีเดียว เพียงแต่สภาพของปัญหามันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามสถานการณ์และข้อเท็จจริง หรือในรายละเอียด แต่มันยังคงอยู่แน่นอนทั้ง 3 ด้าน ยกเว้นว่าในช่วงครึ่งปีหลัง นี้โควิดอาจจะคลายลงได้มากจนกระทั่งถือว่าเป็นภาวะปกติในสถานการณ์นิวนอร์มอล ถ้าเป็นอย่างนั้นการที่จะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการคลี่คลายปัญหาทางการเมืองก็อาจจะเบาลงไปได้

ส่วนที่สอบถึงประเด็นอายุในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับว่ามีการถกเถียงกันอยู่ว่าสุดท้ายแล้วคำว่า 8 ปีของท่านนายกนั้น นับจบตรงไหนและนับ 1 จากการเป็นนายกตรงไหน ฝ่ายนึงบอกว่านับ 1 ตั้งแต่ตอนเป็นนายก คสช. อีกฝ่ายนึงก็บอกว่านับหนึ่งตั้งแต่ตอนที่หลังการเลือกตั้งเที่ยวนี้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะนับ 1 จากตรงไหนก็ต้องบวกไป 8 ปี ซึ่งมันจะจบตรงไหน อันนี้คือสิ่งที่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ แต่ทั้งหมดนี้ คิดว่าต้องให้กรรมการเป็นผู้พิจารณา นั่นก็คือศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้ายถ้ามีคนยื่น เพราะเถียงกันไป เราก็ถกเถียงกันได้ เราก็มีความเห็นต่างกันได้ แต่สุดท้ายต้องไปยุติตรงนั้นเพราะศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรในคำวินิจฉัย