กราฟ "โอมิครอน" ขาขึ้นติดเชื้อ 205 ราย (มีคลิป)

2021-12-24 14:11:55

กราฟ "โอมิครอน" ขาขึ้นติดเชื้อ 205 ราย (มีคลิป)

Advertisement

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยกราฟขาชั้น ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน  205 ราย  ในจำนวนนี้ 25 ไม่เคยไปต่างประเทศ   คลัสเตอร์กาฬสินธ์ใหญ่สุด ชี้ทั่วไทยพบแล้ว 16% ตรวจพบในกลุ่ม นทท. 53% 

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โควิด -19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย ว่า ขณะนี้พบเชื้อโอมิครอนแล้วใน 106 ประเทศ เข้าใจว่าจริง ๆ ตัวเลขน่าจะมากกว่านี้เพราะบางประเทศอาจจะไม่ได้มีการตรวจหาสายพันธุ์ ส่วนในสหรัฐอเมริกาพบผู้ติดเชื้อเกือบครบทุกรัฐแล้ว ทั้งนี้ยืนยันว่าโอมิครอนมีสายพันธุ์ย่อยอยู่ 3 สายพันธุ์ ซึ่งที่ระบาดตอนนี้คือ BA 1 หรือสายพันธุ์เดิมที่มีการกลายพันธุ์ในช่วงแรก และยั่งยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นเชื้อกลายพันธุ์ตัวไหนทั้ง BA 1, BA2 และ BA3 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังสามารถตรวจจับได้

นพ.ศุภกิจ   กล่าวต่อว่า สำหรับการติดตามข้อมูลการแพร่ระบาดในต่างประเทศ เช่นกรณีฮ่องกง มีการทำแล็บด้วยการเอาเชื้อโอมิครอนใส่เข้าไปในทางเดินหายใจ หรือหลอดลมพบว่าเชื้อโอมิครอนมีการแพร่ขยายเร็วมาก และเร็วกว่าเชื้อเดลต้า ประมาณ 70 เท่า แต่พอไปลงไปถึงปอด ที่จะเป็นจุดที่อันตรายแก่ชีวิตนั้น กลับพบว่าไม่ค่อยทำลายเนื้อปอดมากเท่ากับเชื้อเดลต้า นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมเชื้อโอมิครอนถึงแพร่เร็วเพราะมีปริมาณเชื้อชุกชุมในทางเดินหายใจส่วนบน แต่กลับไม่ค่อยมีอันตรายอะไรมาก อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงการศึกษาหนึ่งเท่านั้น ส่วนข้อมูลอังกฤษซึ่งมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วพบว่าหากเป็นการติดเชื้อในครัวเรือนเชื้อเดลต้ามีอัตราการแพร่เชื้ออยู่ที่ 10.3% ขณะที่โอมิครอนขึ้นเป็น 15.8% แต่ถ้าเป็นการแพร่ระบาดในชุมชนเชื้อเดลต้าสามารถแพร่กระจายได้ 3% ส่วนโอมิครอนจะติดเชื้อได้ 8.7% สำหรับตัวเลขใน สหรัฐอเมริกาเดิมเป็นเชื้อเดลต้าทั้งหมด แต่ล่าสุดพบว่าเป็นเชื้อโอมิครอนมากกว่า 70% สัดส่วนเปลี่ยนค่อนข้างเร็ว  เรื่องความรุนแรง กรณีที่อังกฤษหากติดเชื้อเดลต้า ได้รับการแอดมิด 50% นอนโรงพยาบาลมากกว่า 1 วันขึ้นไปประมาณ 61% แต่หากเป็นโอมิครอนจะเข้า รพ. 20-25% และนอนรพ.มากกว่า 1 วัน 40-45% ขณะที่ต้นตำหรับอย่างแอฟริกาใต้ก็พบสถานการณ์ใกล้เคียงกันพบว่าโอมิครอนทำให้เกิดการนอน รพ.ที่ 2.5% ส่วนเชื้อตัวอื่นขึ้นไปถึง 12.8% นับว่าเป็นนัยยะสำคัญทางสถิติ ส่วนเรื่องอาการหนักเชื้อโอมิครอนทำให้อาการหนัก 21% ส่วนเชื้ออื่นอาการหนัก 40% อย่างไรก็ตามเนื่องจากตัวเลขการศึกษายังไม่มากพอที่จะทำให้การพิสูจน์ทางการศึกษายังไม่มีนัยยะสำคัญมากพอ

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้หน่วยงานควบคุมโรคของสหรัฐฯพูดชัดเจนว่าคนที่เคยติดเชื้อมาก่อนซึ่งเท่ากับเป็นการฉีดวัคซีนโดยธรรมชาติ หรือมีการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ หรือได้รับวัคซีนรุ่นที่ 1 จะป้องกันเชื้อโอมิครอนได้ไม่มาก แต่อาการรุนแรงลดลง เทียบกับคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่เคยติดเชื้อมาก่อน เพราะฉะนั้นหมายความว่าวัคซีนยังสามารถช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคได้ และมีหลายการศึกษาบอกว่าหากมีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสจะทำให้ยกระดับภูมิคุ้มกันสูงมากพอ จะช่วยลดการติดเชื้อ ลดอาการป่วยหนักรุนแรง ซึ่งเป็นนโยบายของประเทศไทยในการเร่งรัดให้คนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม แล้วไม่ว่าจะเป็นสูตรไหนก็ตาม หากได้รับเข็มที่ 2 นาน 3 เดือนแล้วควรมาฉีดบูสเตอร์เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยล่าสุดจากการตรวจคนเดินทางมาจากต่างประเทศ และการสุ่มตรวจสายพันธุ์ในประเทศรอบ นี้ไม่เจอเชื้ออัลฟ่า และเบต้า แต่พบสายพันธุ์เดลต้า และ 732 ราย โอมิครอน 142 ราย บวกกับของเดิมที่รายงานไปก่อนหน้านี้คือ 63 ราย เท่ากับขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศไทยแล้ว 205 ราย ถ้าดูภาพรวมภายในประเทศเกือบพันตัวอย่าง จะพบว่าเป็นการติดเชื้อโอมิครอน ประมาณ 16% กรุงเทพฯ อยู่ที่ 40% ภูมิภาค 8% ทั้งนี้สาเหตุที่ กทม.เยอะเพราะสถานบริการที่ส่งตัวอย่างมาจากที่กรุงเทพฯ เยอะ แต่เมื่อแยกคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศและกลุ่มอื่นที่อยู่ในประเทศ ซึ่งจากเดิมที่เรารายงานเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่าพบโอมิครอน 1 ใน 4 ของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่ขณะนี้พบได้ 53% ในกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และเริ่มพบคนที่อยู่ภายในประเทศจำนวนหนึ่งประมาณ 3.8% จะเห็นว่าภาพรวมในทุกกลุ่มนี้กราฟชันขึ้น นั่นหมายความว่าในช่วงเวลาเดียวกันมีการติดเชื้อค่อนข้างเร็ว ซึ่งเป็นหลักการของโรคติดต่ออยู่แล้วว่าจะมีการแพร่กระจายได้เร็วขึ้นในระยะเวลาถัดไป

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับในจำนวนผู้ติดเชื้อ โอมิครอน 205 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 180 ราย คนไทยที่ไม่เคยมีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ 25 ราย โดยยังเป็นการติดเชื้อที่มีความสัมพันธ์กับผู้เดินทางมาจากผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศในจำนวนนี้มีคลัสตเตอร์ใหญ่ที่สุดคือสามีภรรยาที่กาฬสินธุ์ขณะนี้ตรวจพบการติดเชื้ออีก 20 ราย รวมสองสามีภรรยา ก็เป็น 22 ราย ในจำนวนนี้มี 5 รายที่ตัวอย่างไม่สมบูรณ์อยู่ระหว่างการเก็บสิ่งส่งตรวจใหม่ ส่วนคลัตเตอร์อื่นอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคคือคลัสเตอร์ 3 ราย จากผู้แสวงบุญ มีแม่บ้านในโรงแรมแห่งหนึ่งจำนวน 1 รายและอีก 1 รายคือภรรยาของนักบินที่ได้มีการรายงานไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามย้ำว่ายังไม่มีการติดเชื้อโอมิครอนคตั้งต้นในประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการแพร่เชื้อจากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และมีคลัสเตอร์ที่ติดกันเหมือนกรณีกาฬสินธุ์เพิ่มเติมได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเชื้อมีการแพร่ระบาดเร็ว เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆ อยากให้ช่วยกันเพื่อลดความเสี่ยง เราต้องช่วยกันเพื่อยันการติดเชื้อระดับน้อยออกไปให้ได้นานที่สุด แต่สุดท้ายมันก็จะเกิดการแพร่ในประเทศได้ แต่และจากหลักฐานเชิงประจักษ์เชื้อโอมิครอนไม่ได้รุนแรงเท่าไหร่ จึงไม่น่าจะต้องวิตกกังวลมากนัก แต่ขอให้ช่วยมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ.