"นิกร"เผยพรรคร่วมรัฐบาลยื่น 2 ร่าง พ.ร.ป. "ชวน" 23 ธ.ค.ชี้ยังมีเห็นต่าง เชื่อเคลียร์ได้ไร้ปัญหา
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า พรรคร่วมรัฐบาลเตรียมยื่นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในวันที่ 23 ธ.ค. เวลา 11.00 น. โดยเนื้อหาถือว่าเรียบร้อยได้ข้อยุติในภาพรวม แม้มีบางประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกันในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลแต่จะใช้กลไกของกรรมาธิการฯ เพื่อแปรญัตติแก้ไข อย่างไรก็ตามจากการหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ทราบถึงแนวทางพิจารณาและเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติในประเด็นที่ส.ส.เห็นต่างจากร่างพ.ร.ป.ที่เสนอโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
นายนิกร กล่าวต่อว่า สำหรับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ กกต. ยกร่างและทำความเห็นนั้น ยอมรับว่าแก้ไขเพียงรายละเอียดตัวเลขของส.ส.บัญชีรายชื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่พบการแก้ไขปัญหาของนายทะเบียนพรรคการเมืองและพรรคการเมือง ดังนั้นหากให้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองของรัฐบาล ที่เสนอรัฐสภา โดยการยกร่างของ กกต. เป็นร่างหลักในการพิจารณา เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาในกระบวนพิจารณา และส.ส.สามารถเสนอแก้ไขได้ โดยเฉพาะประเด็นการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส.(ไพรมารีโหวต) ที่เสนอให้แก้ไขให้ใช้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเป็นผู้แสดงความเห็นต่อรายชื่อผู้สมัครส.ส. ที่พรรคการเมืองจะส่งลงเลือกตั้ง โดยไม่มีการลงมติ ซึ่งต่างจากกฎหมายฉบับเดิม ทั้งนี้การแก้ไขประเด็นดังกล่าวพรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่าสอดคล้องกับ มาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ วรรคสอง ที่กำหนดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง
นายนิกร กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ยังเห็นต่าง คือ หมายเลขผู้สมัคร ส.ส. ที่ กกต. และพรรคเพื่อไทย เสนอให้ใช้หมายเลขเดียวกันทั้งการสมัครแบบและแบบบัญชีรายชื่อ แต่ของพรรคร่วมเสนอให้แยกคนละเบอร์ โดยเหตุผลสำคัญที่พรรคร่วมเสนอดังกล่าว เพื่อไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 สำหรับปฏิทินทำงานต่อการแก้ร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ คาดว่าภายในกลางเดือน ม.ค. 2565 รัฐสภาจะพิจารณาในวาระรับหลักการ และตั้งกรรมาธิการฯ พิจารณา โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้พิจารณาให้เสร็จภายใน 180 วัน นับจากวันที่รับหลักการ ดังนั้นเชื่อว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ค. 2565