"วันชัย"ปูดเลือกตั้ง อบต.ซื้อเสียงกันแหลก บางจังหวัดสูงถึงหัวละหมื่นบาท ฝาก มท.ปลุกจิตสำนึกประชาชน
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้มีการพิจารณากระทู้ถามสดของนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ถาม รมว.มหาดไทย เรื่อง ภาพรวมการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และการป้องกันการทุจริต ว่า การเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องขอให้หน่วยงานท้องถิ่นที่กระทรวงมหาดไทยดูแลช่วยดำเนินการ ทั้งนี้ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และสมาชิกอบต. เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา เชื่อว่ามีการทุจริต ซื้อสิทธิขายเสียงแน่นอน แม้ไม่มีหลักฐานนำเสนอต่อที่ประชุม แต่ตนกล้าสาบานให้เป็นให้ตายกลางห้องประชุมได้ว่า มีการจ่ายเงินซื้อเสียง 200 - 2,000 บาท หรือบางพื้นที่ปริมณฑลหัวละหมื่นบาท แต่ไม่ขอเอ่ยว่า เป็นจังหวัดอะไร ขอถามทางกระทรวงมหาดไทยว่า จะสนับสนุนส่งเสริมอย่างไร ไม่ให้มีการทุจริต หรือจะช่วย กกต. หรือปลุกประชาชน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของมหาดไทยอย่างไร เพื่อทำให้ประชาชนตื่นตัว ป้องกันการทุจริต ทั้งขอฝากความหวังในการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งสุจริต แม้จะค่อนข้างเลือนลาง แต่ก็ขอฝากรัฐมนตรีว่า จะปลุกจิตสำนึกประชาชน ให้เขาปฏิเสธการคอร์รัปชั่น ให้ประชาชนรังเกียจ นายก อบต. ที่ทุจริต
นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ชี้แจงว่า การเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้ หวังว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิ์มากกว่าครั้งที่แล้วที่มีประมาณ 77 เปอร์เซ็นต์ กระทรวงมหาดไทย ได้ประสานอย่างใกล้ชิดกับ กกต. เมื่อมีการกำหนดวันเวลาเลือกตั้ง ออกมา เราได้มีหนังสือสั่งการ เรื่องการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจ คณะกรรมการประสานงาน การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น นอกจากนี้ มหาดไทยได้ประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบผ่านสื่อต่างๆ ชี้ให้เห็นถึงการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ ส่วนการจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม ได้ประสานไปยัง กกต. เบื้องต้นพบว่า มีการร้องเรียนที่จะให้ทรัพย์สิน 89 เรื่อง จะให้องค์กรต่างๆ 55 เรื่อง และเรื่องอื่นๆ เมื่อมีเรื่องร้องเรียนมา จากนี้ กกต.จะสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อยุติ กระทรวงมหาดไทย ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ทั้งการประชาสัมพันธ์ และเรื่องบุคลากรที่ไปดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ข้อห่วงใยของท่าน กระทรวงมหาดไทยจะรับไปดูแล และนำไปดำเนินการต่อไป
รมช.มหาดไทย กล่าวต่อว่า จากข้อมูล ระหว่างปี 50 - 58 พบว่ามีการชี้มูลความเสียหายจากความผิดร่ำรวยผิดปกติ รวมมูลค่า 5.2แสนล้านบาท แต่ในส่วนของท้องถิ่น ที่มี 7,800 แห่ง พบว่ามีมูลค่าความเสียหา 158 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 0.04 ดังนั้นไม่ต้องการให้เกิดขึ้น จึงมีมาตรการปรามและกำกับท้องถิ่น เช่น การทำกฎหมายเข้าชื่อเพื่อถอดถอนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อปท. โดยตนคาดว่าเร็วๆ นี้จะเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป