สธ.ย้ำทั่วโลกติดตามใกล้ชิดโควิดพันธุ์ "โอไมครอน"

2021-11-28 16:48:58

สธ.ย้ำทั่วโลกติดตามใกล้ชิดโควิดพันธุ์ "โอไมครอน"

Advertisement

สธ.ย้ำทั่วโลกติดตามใกล้ชิดโควิดพันธุ์ "โอไมครอน"แนะคนไทยฉีดวัคซีนสร้างกำแพงกันโรค พร้อมมาตรการป้องกันตัวขั้นสูงสุด

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน กับประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคในปัจจุบัน ว่า เนื่องจากข้อมูลการติดเชื้อทั่วโลกวันนี้ยังมีไม่มากในแต่ละพื้นที่ หลักหน่วย ถึงหลักสิบราย หลายรายก็ไม่มีอาการด้วย จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าวัคซีนที่มีการฉีดในปัจจุบันแต่ละชนิดนั้นเพียงพอต่อการป้องกันเชื้อนี้หรือไม่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จับตาอยู่ แต่ในรายงานผู้ที่ตรวจเจอว่าเป็นเชื้อโอไมครอนนั้นก็มีทั้งคนที่ฉีดวัคซีนครบโดส ฉีดไม่ครบ และไม่ได้ฉีดวัคซีนก็มี ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เหมือนกับเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ อย่างอัลฟา เดลตา ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วก็สามารถติดเชื้อได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยข้อมูลที่มากกว่านี้

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า เรายังไม่รู้ว่าวัคซีนที่ฉีดไปแล้วนั้นประสิทธิภาพจะลดลงแค่ไหนเมื่อเจอกับสายพันธุ์โอไมครอน คงลดบ้าง แต่ลดแค่ไหน ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ แต่ว่ากลไกร่างกายภูมิคุ้มกันไม่ได้ขึ้นจากการกระตุ้นด้วยวัคซีนอย่างเดียว มีปัจจัยอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม การมีวัคซีนดีกว่าไม่มีวัคซีนแน่ๆ เหมือนกับโจรเข้าบ้าน มีมีดสู้ได้หรือไม่ก็ไม่รู้ แต่หากไม่มีอาวุธอะไรเลยคงไม่ดีแน่ๆ ดังนั้นจึงต้องย้ำกับประชาชนว่าให้มาฉีดวัคซีนดีกว่า เพราะเมื่อฉีดวัคซีนกันจำนวนมากแล้วจะช่วยเป็นกำแพงกั้นได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกับเชื้อเดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยเกือบ 99 % เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงโอกาสในการเชื้อโอไมครอนก็น้อยมาก ถ้าเจอเราก็จะเจอเชื้อเดลตาก่อน ดังนั้นถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนก็น่าเสียดาย เพราะวัคซีนจัดการกับเชื้อเดลตาได้ระดับหนึ่ง แล้วโอไมครอนก็ยังไม่เจอในประเทศไทยด้วย หากตรวจเจอก็มีน้อย ไม่ได้เข้ามาพรึบเดียว เหมือนกับเชื้อเบตาที่เรายังจัดการและอยู่ในบางพื้นที่ภาคใต้” นพ.ศุภกิจ กล่าว และว่า สำหรับการพัฒนาวัคซีน ปัจจุบันวัคซีนแพลตฟอร์มต่างๆ ที่กำลังพัฒนารุ่นที่ 2 นั้นมีการพัฒนามาจากฐานของเชื้อโควิด สายพันธุ์เบตา ซึ่งเป็นตัวที่ถือว่าร้ายที่สุดในบรรดาสายพันธุ์ที่เรามีข้อมูลแล้วในขณะนี้ ยังไม่นับรวมโอไมครอน ที่เพิ่งเจอแล้วยังไม่มีข้อมูล

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า ตนขอชี้แจงอีกเรื่องที่ขณะนี้น่าจะมีการสื่อสารที่เข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อ โดยย้ำว่า การตรวจด้วย RT-PCR ยังสามารถตรวจเจอสายพันธุ์โอไมครอนได้ ส่วนเพราะเป็นการตรวจสารพันธุ์กรรมไวรัส แต่ชุดตรวจด้วยตัวเอง หรือ ATK เนื่องจากเป็นการตรวจโปรตีนไวรัสบางตัวแคบๆ ไม่ได้ลงลึกถึงยีนส์ ซึ่งถ้าโปรตีนของสายพันธุ์โอไมครอนหายไป ไม่มีให้จับ ก็แปลว่าจะตรวจไม่เจอ แต่ก็ยังไม่ใช่ข้อมูลสรุป

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุม EOC ติดตามการแพร่ระบาดในประเทศ และข้อมูลการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์โอไมครอนในทวีปแอฟริกา โดยสั่งการให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค ติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับทุกจังหวัดกำกับติดตามการฉีดวัคซีน การป้องกันตนเองขั้นสูงสุด การทำพื้นที่ปลอดภัยจากโควิดและการตรวจคัดกรองด้วย ATK โดยเน้นเฝ้าระวังตรวจจับการระบาดในชุมชน/ชุมชนที่มีแรงงานต่างด้าว เร่งฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 ให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้น ทั้งในโรงพยาบาล เช่น คลินิกโรคเรื้อรัง,คลินิกฝากครรภ์ และนอกโรงพยาบาล เช่น ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย-กลุ่มเปราะบาง จุดลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งในชุมชน และสื่อสารให้ประชาชนป้องกันตนเองสูงสุด ทุกที่ ทุกเวลา ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันโควิด- 19 ได้ทุกสายพันธุ์