"ชวน"คาด ธ.ค. บรรจุร่าง ก.ม.ลูกเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณา หวั่นมีปัญหายุบสภาก่อน
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีการโปรดเกล้าฯ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 ว่า เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว กฎหมายก็จะมีผลใช้บังคับ กระบวนการต่อไปที่สภาฯ ต้องเตรียมรับ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ขณะนี้สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎร เตรียมรับคือรัฐบาลกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประสานกัน โดยกกต.จะมีหน้าที่เตรียมกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวเพื่อส่งไปยังรัฐบาลและรัฐบาลก็จะเป็นผู้เสนอกฎหมายต่อสภาฯ หรือไม่เช่นนั้น ส.ส. ก็จะเข้าชื่อกันเสนอกฎหมาย ดังนั้นตนคิดว่าน่าจะเดือน ธ.ค.หรือเดือน ม.ค.ที่รัฐบาลจะเสนอกฎหมายเข้ามา ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ส่งสัญญาณอธิบายเรื่องนี้มา 2-3 ครั้งแล้ว ซึ่งฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรก็หารือกับฝ่ายเลขาสภาผู้แทนราษฎรไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเตรียมอะไรบ้าง ทั้งนี้กฎหมายให้ใช้บังคับการเลือกตั้งทั่วไป ฉะนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวหากมีการยุบสภาขึ้นมาก็จะมีปัญหาเหมือนกัน อย่างไรก็ตามตนเข้าใจว่ากระบวนการคงไม่ช้า เพราะเท่าที่สอบถามภายในทราบว่า กกต.ได้เตรียมไว้ล่วงหน้าแล้วในเบื้องต้น นับตั้งแต่ที่กฎหมายนี้ผ่านสภาฯ ไป เพียงแค่รัฐบาลจะเสนอเข้ามาเมื่อไหร่ หากเสนอเข้ามาในช่วงเดือน ธ.ค.ก็สามารถบรรจุเข้าระเบียบวาระในเดือนธ.ค.ได้เลย
ผู้สื่อข่าวถามว่า กระบวนการพิจารณาของสภาใช้เวลานานหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ตนเข้าใจว่ากฎหมายจะไม่ซับซ้อนมาก เพราะแก้เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม เมื่อถามว่า หากในช่วงเวลานั้นเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นจริงๆ นายชวน กล่าวว่า มันก็จะมีปัญหา ซึ่งตนพูดไว้เผื่อล่วงหน้า เพียงแต่ก็หวังว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฝ่ายสภาฯ ก็ต้องเตรียมรับกฎหมายที่รัฐบาลจะเสนอมาเป็นหลัก ซึ่งตนได้กำชับไปแล้วว่าเมื่อเสนอเข้ามาก็ให้รีบดูและพิจารณาให้พร้อม และเข้าสภาฯ ในทันที
เมื่อถามถึง กรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 152 ซึ่งคาดว่าจะยื่นในเดือนธ.ค.นี้เหมือนกันจะทำได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ทำได้ ดังนั้น ช่วงนี้จึงได้ขอความร่วมมือสภาฯ ให้มาประชุม และนัดประชุมวันศุกร์เพิ่มเป็นพิเศษ เพื่อนำเรื่องที่ค้างพิจารณาอยู่ เช่น กฎหมายของรัฐบาลที่จะต้องไม่ค้างแม้แต่เรื่องเดียว ในส่วนของญัตติที่เสนอไว้ก็ต้องใช้เวลา จะเห็นว่าจะต้องใช้เวลาพิจารณาทั้งวัน ซึ่งก็ได้ขอความร่วมมือว่าอะไรที่ค้างอยู่ก็ขอให้ช่วยกันสะสางให้ออกไป วันศุกร์นี้จึงขอความร่วมมือว่าให้ประชุมอีกครั้งก่อนจะเริ่มเข้าสู่เดือนธันวาคม โดยจะนำเรื่องที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้วมาพิจารณา โดยปัญหาจะอยู่ที่ความร่วมมือของการอภิปราย เพราะยุคนี้อภิปรายกันเหมือนญัตติทำให้ต้องใช้เวลา แต่หลายคนเป็นคนรักษาเวลาน่านับถือ ฉะนั้น ความร่วมมือจะทำให้งานสภาฯ ไปได้
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่มีการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา ในส่วนของส.ว.ก็ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญที่ต้องเข้ามามีส่วนในการเห็นชอบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องการลงมติต่างๆในเรื่องของกฎหมายลูกนั้นสมาชิกวุฒิสภาก็ต้องร่วมพิจารณาตามวาระที่ 1 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 ตามลำดับ โดยจะต้องมีผู้เสนอกฎหมาย เข้าใจว่ารัฐบาล โดยกกต. จะเป็นผู้เสนอ รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เนื่องจากผู้ที่เสนอแก้ไขคือพรรคประชาธิปัตย์ ในส่วนของส.ว.ไม่มีสิทธิ์เสนอ