โรคที่มากับ "น้ำท่วม-น้ำขัง"
หน้าฝน น้ำล้นตลิ่ง น้ำล้นเขื่อนแบบนี้ นอกจากปัญหาด้านการดำเนินชีวิต การสัญจรไปมา ด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังผลกับสุขภาพกันด้วย น้ำท่วมและน้ำขังสามารถทำให้เกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ หลายการศึกษาพบว่า โรคที่มากับน้ำ เช่น โรคท้องเสีย โรคที่เกี่ยวข้องการสุขลักษณะการกินอยู่ เช่น โรคไทฟอยด์ ไวรัสตับอักเสบเอ หรือไวรัสตับอักเสบอี รวมทั้งโรคที่มียุงหรือแมลงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย ไข้ซิกา ไข้ปวดข้อยุงลาย ก็อาจเพิ่มมากขึ้นได้ เนื่องจากน้ำที่ขังเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ยุงและสัตว์ขนาดเล็กอื่น ๆ โรคที่เกี่ยวกับกับหนู เช่น โรคฉี่หนู หรือ Leptospirosis
การติดเชื้อทางเดินหายใจหลายอย่างก็มากับหน้าฝนหรือน้ำท่วมได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ นอกจากนี้ อาจยังทำให้เกิดผื่น หรือแผลติดเชื้อจากการแช่น้ำนาน ๆ ได้ ทั้งเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ในน้ำท่วมหรือน้ำขังที่ขุ่น อาจมีของมีคมต่าง ๆ เช่น เศษแก้ว เศษโลหะ มองเห็นไม่ชัดเจนทำให้เกิดแผลเปิดได้ เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อบาดทะยัก
หากสัมผัสกับน้ำขัง หรือน้ำท่วมแล้ว สามารถทำอะไรได้บ้าง ล้างมือ และส่วนอื่น ๆ ของร่างกายที่สัมผัสน้ำท่วมหรือน้ำขังทันทีด้วยน้ำและสบู่ หากหาไม่ได้ สามารถใช้ผ้าชุบแอลกอฮอล์หรืออุปกรณ์ทำความสะอาดอื่น ๆ ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนน้ำท่วมหรือน้ำขัง หากมีแผลเปิด ให้ล้างรอบแผลให้สะอาด เช็ดให้แห้ง คอยสังเกตแผล ถ้าปวด บวม แดง หรือมีหนองออกมาให้ไปพบแพทย์ทันที หากเป็นแผลลึก มีสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ หรือมีโลหะทิ่มตำ อาจมีความจำเป็นต้องนำสิ่งปนเปื้อนออกจากแผล ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก หรือได้รับยาปฏิชีวนะเพิ่มเติม
เราสามารถป้องกันตนเองได้อย่างไร หลีกเลี่ยงบริเวณน้ำท่วมหรือน้ำขัง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น กินยากดภูมิ เป็นต้น หากจำเป็นต้องเข้าไปให้ใส่รองเท้าบู๊ตยาง ถุงมือยาง และแว่นตากันน้ำ ดื่มน้ำ รับประทานอาหารที่ปลอดภัยล้างด้วยน้ำที่สะอาด ไม่ได้สัมผัสกับน้ำที่ท่วมขัง ล้างภาชนะต่าง ๆ ด้วยน้ำและน้ำยาล้างจานที่สะอาด เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวบ่อย ๆ ระวังการแปรงฟันหรือล้างปากด้วยน้ำประปาที่อาจมีน้ำท่วมขังปนเปื้อน อาจเลี่ยงเป็นใช้น้ำกินแทนชั่วคราว ป้องกันยุงหรือสัตว์ขนาดเล็ก โดยสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด สีอ่อน สะอาด ระบายอากาศได้ดี ทายากันยุง อยู่ในมุ้งหรือมุ้งลวดกันยุง รวมทั้งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงต่าง ๆ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด รักษาระยะห่างกับบุคคลอื่น ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันหากต้องใกล้ชิดกับผู้อื่น รับวัคซีนป้องกันโรคที่อาจมากับน้ำให้ครบถ้วน เช่น วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก
หากมีอาการสงสัยว่ามีโรคที่เกิดจากน้ำท่วมควรทำอย่างไร หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ท้องเสีย ผื่น รอยแผล ตัวเหลืองตาเหลือง ควรปรึกษาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทันที
อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล